แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ในรายที่มีอาการเล็กน้อย คือมีเลือดออกเล็กน้อยขณะเบ่งถ่ายหรือหลังถ่ายอุจจาระ ไม่มีอาการเจ็บปวด แนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตอาการ เวลาถ่ายอุจจาระพยายามไม่เบ่งแรง และไม่นั่งถ่ายนาน ๆ อย่านั่งนาน ๆ และไม่ยกของหนัก
ถ้าจำเป็นอาจให้การรักษาอาการท้องผูกหรือท้องเดินที่เป็นสาเหตุที่ทำให้อาการกำเริบ
สำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูก แนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวเพื่อให้อุจจาระนุ่มและถ่ายง่าย (ดูหัวข้อ "การดูแลตนเอง" ด้านล่าง)
2. ถ้ามีอาการปวดริดสีดวงทวารเนื่องจากมีการอักเสบ แนะนำให้ผู้ป่วยนั่งแช่ในน้ำอุ่นจัด ๆ (ขนาดร้อนพอทน หรือประมาณ 40 องศาเซลเซียส) วันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 15-20 นาที แล้วใช้ผ้านุ่ม ๆ ซับให้แห้ง
ถ้าปวดมากให้ยาแก้ปวด-พาราเซตามอล หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนก) ควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดที่เข้าสารฝิ่นหรืออนุพันธ์ของฝิ่น เพราะอาจทำให้ท้องผูก นอกจากนี้อาจใช้ยาชาชนิดเจล (ที่มีตัวยา lidocaine) ทาระงับปวด
นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาเหน็บริดสีดวงทวาร หรือยาทาที่มีตัวยาสตีรอยด์ผสมกับยาชา (เช่น ยาที่มีชื่อการค้าว่า "Proctosedyl" "Doproct" "Scheriproct N" ชนิดเหน็บทวาร หรือชนิดขี้ผึ้ง/ครีมสำหรับใช้ทา วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น และหลังถ่ายอุจจาระ) เพื่อลดการอักเสบ บรรเทาอาการปวดและคัน (จะหยุดใช้เมื่ออาการทุเลาแล้ว จะไม่ใช้นานเกิน 1 สัปดาห์ เพราะจะทำให้ผิวบาง)
3. ถ้ามีภาวะซีดจากการเสียเลือดเรื้อรัง ให้ยาบำรุงโลหิต
4. ถ้าหัวริดสีดวงหลุดออกมาข้างนอก แพทย์จะใส่ถุงมือใช้ปลายนิ้วชุบสบู่ให้หล่อลื่น แล้วดันหัวกลับเข้าไป
5. ถ้าริดสีดวงภายนอกมีลิ่มเลือดอุดตัน มีอาการปวดรุนแรง แพทย์จะทำการกรีดเอาลิ่มเลือดออกไป ซึ่งจะช่วยให้ทุเลาปวดได้ทันที (จะได้ผลดีภายใน 72 ชั่วโมงหลังเกิดลิ่มเลือด) หลังจากนั้นแนะนำให้ผู้ป่วยแช่น้ำอุ่นจัด ๆ และใช้ยาทาหรือยาเหน็บริดสีดวงทวาร
6. ถ้าให้การรักษาดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ผล มีอาการปวดมาก หรือมีเลือดออกเรื้อรัง หรือมีหัวริดสีดวงยื่นออกมานอกทวารหนักบ่อยหรือดันกลับเข้าไปไม่ได้ แพทย์อาจทำการรักษาด้วย "หัตถการที่ไม่ใช่การผ่าตัด" วิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
- การใช้ยางรัด (rubber band ligation) รัดรอบ ๆ หัวริดสีดวงภายใน ทำให้เลือดไปเลี้ยงไม่ได้ หัวริดสีดวงก็จะเหี่ยวแห้งและหลุดออกเองภายใน 1 สัปดาห์ วิธีนี้มีอัตราการหายขาดค่อนข้างสูง แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น อาการปวดถ่วงในทวารหนัก เลือดออก (ไม่มากและหยุดเองได้) หัวริดสีดวงอักเสบ (บวม เจ็บ) และย้อยออกมาได้
- การฉีดสารก่อกระด้าง (sclerotherapy) เข้าที่หัวริดสีดวง ทำให้ริดสีดวงฝ่อไป วิธีนี้ใช้ได้ผลดี เหมาะสำหรับริดสีดวงภายในระยะที่ 1 และ 2 มีความสะดวก ปลอดภัย ไม่มีความเจ็บปวด แต่มีอัตราการหายขาดน้อยกว่าการใช้ยางรัด
- การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ อินฟราเรด หรือความร้อน (laser, infrared or bipolar photocoagulation) ทำให้หัวริดสีดวงแข็งและยุบลง วิธีนี้ใช้สำหรับรักษาริดสีดวงภายในที่มีขนาดเล็กและกลาง มีผลข้างเคียงน้อย แต่มีอัตราการกำเริบใหม่มากกว่าการใช้ยางรัด
7. ถ้าเป็นมาก มีภาวะแทรกซ้อน หรือรักษาด้วยยาและหัตถการต่าง ๆ แล้วไม่ได้ผล แพทย์ก็จะรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีให้เลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
- การผ่าตัดเอาหัวริดสีดวงออก (hemorrhoidectomy) ซึ่งเป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม โดยเลาะเอาเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวารออก วิธีนี้ให้ผลการรักษาดี มีโอกาสในการกลับมากำเริบใหม่น้อย แต่อาจมีผลข้างเคียงคือ ทำให้เกิดภาวะปัสสาวะคั่ง (ถ่ายปัสสาวะไม่ออก) และการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้
- การผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือเย็บติด (stapled hemorrhoidectomy/stapled hemorrhoidopexy) เป็นการใช้เครื่องมือคล้ายเครื่องยิงลวดทำการตัด เย็บ และผูกหัวริดสีดวง ปิดกั้นเลือดที่จะไปเลี้ยงบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวาร ทำให้หัวริดสีดวงเกิดการฝ่อและหลุดไป วิธีนี้เหมาะสำหรับการรักษาริดสีดวงทวารภายในเท่านั้น วิธีนี้ทำให้เกิดการเจ็บปวดน้อยกว่า และฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม แต่มีความเสี่ยงต่อการกำเริบใหม่ และภาวะไส้ตรงยื่นย้อย (rectal prolapse) มากกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม และอาจเกิดผลแทรกซ้อน เช่น เลือดออก ปัสสาวะไม่ออก เกิดการติดเชื้อ เป็นต้น
ผลการรักษา ผู้ที่มีอาการเล็กน้อยซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่ สามารถให้การรักษาตามอาการ ทำให้อาการทุเลาได้ แต่มีโอกาสกลับมากำเริบเป็นครั้งคราวเวลาท้องผูกหรือท้องเดิน
ในรายที่มีความจำเป็นต้องรักษาด้วยหัตถการที่ไม่ใช่การผ่าตัด (เช่น การใช้ยางรัด) มีโอกาสกำเริบใหม่ภายใน 5-10 ปี ถึงร้อยละ 30-50 ส่วนในรายที่รักษาด้วยการผ่าตัดมีโอกาสกำเริบใหม่น้อยกว่าร้อยละ 5