1. ระบุอาการเบื้องต้น
  2. ตอบคำถาม
  3. ผลตรวจอาการ
  1. 1
  2. 2
  3. 3

มีอาการปัสสาวะขุ่น ไม่ใสเหมือนปกติ หรือมีสีผิดปกติ เช่น สีเหลืองเข้ม สีเขียว สีฟ้า สีส้ม สีแดง สีดำ หรือสีคล้ายเลือด อาจมีไข้ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
สาเหตุที่พบบ่อย : กระเพาะปัสสาวะอักเสบ นิ่วกระเพาะปัสสาวะ นิ่วไต กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน สาเหตุจากสีในยาหรืออาหาร

  • 1.

    ปัสสาวะดำ ปัสสาวะสีส้ม ปัสสาวะแดง หรือ ปัสสาวะเป็นเลือด?

  • 2.

    มีไข้?

  • 3.

    หนาวสั่นมาก และ เคาะเจ็บที่สีข้าง?

  • 4.

    ปัสสาวะแดงและบวมทั้งตัว? ร่วมกับ ความดันโลหิตสูง/มีประวัติเจ็บคอเมื่อ 1-4 สัปดาห์ก่อน?

  • 5.

    ซีด ดีซ่าน (ตาเหลือง) หรือ มีจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว?

    วิธีสังเกตอาการจุดแดงจ้ำเขียว: หากใช้นิ้วมือดึงรั้งผิวหนังในบริเวณที่มีผื่นหรือจุดให้ตึง ถ้าเป็นจุดแดงจ้ำเขียวจะไม่จางหาย แต่ถ้าจางหาย มักเป็นรอยผื่นของหัด หัดเยอรมัน ส่าไข้  จุดแดงรูปแมงมุม รอยยุงกัด หรือจุดของหลอดเลือดฝอยที่พองตัว

ควรไปพบแพทย์ ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจอาการเพิ่มเติม เนื่องจากอาการของคุณข้างต้นอาจเป็นสัญญาณของ โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ, ไอทีพี, มะเร็งเม็ดเลือดขาว, เล็ปโตสไปโรซิส, ธาลัสซีเมีย, โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก, ภาวะพร่องเอนไซม์ จี-6-พีดี หรือโรคอื่น ๆ
ควรไปพบแพทย์ด่วน ถ้าถ่ายปัสสาวะเป็นเลือดหรือมีเลือดออกที่อื่นๆ/ลุกนั่งจะเป็นลม
หมายเหตุ
ผลตรวจอาการเบื้องต้นดังกล่าว เป็นเพียงอาการ ภาวะ หรือโรคที่พบได้บ่อยเท่านั้น เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ควรเข้ารับการตรวจอาการโดยตรงอีกครั้งจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ณ สถานพยาบาล ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน
โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ
ไขกระดูก (bone marrow) อยู่ในโพรงกระดูกทั่วร่างกายมีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง (red blood cells) เม็ดเลือดขาว (white blood cells) และเกล็ดเลือด (platelets)
 
ในคนบางคนอาจเกิดภาวะผิดปกติของไขกระดูกเป็นเหตุให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดได้น้อยลง หรือไม่ได้เลยทั้ง 3 ชนิด เกิดภาวะโลหิตจาง (เพราะขาดเม็ดเลือดแดง) ติดเชื้อง่าย (เพราะขาดเม็ดเลือดขาว) และเลือดออกง่าย (เพราะขาดเกล็ดเลือด) เรียกว่า โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ หรือ โรคโลหิตจางอะพลาสติก
 
โรคนี้พบได้ค่อนข้างน้อย แต่เป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้ พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่พบได้บ่อยในกลุ่มวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว และผู้สูงอายุ
ไอทีพี /เกล็ดเลือดต่ำจากภูมิต้านตัวเอง

ไอทีพี/เกล็ดเลือดต่ำจากภูมิต้านตัวเอง หมายถึง ภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่เป็นผลมาจากร่างกายมีปฏิกิริยาภูมิต้านเกล็ดเลือดของตัวเอง ทำให้มีเลือดออกง่าย มีอาการสำคัญคือเกิดจุดแดง จ้ำเขียว ตามผิวหนัง 

 

โรคนี้เดิมมีชื่อว่า "Idiopathic thrombocytopenic purpura/ITP" ปัจจุบันเรียกว่า "Immune thrombocytopenia/ITP" ("Immune thrombocytopenic purpura", "Autoimmune thrombocytopenic purpura", "Autoimmune thrombocytopenia" ก็เรียก)

 

โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในเด็กพบบ่อยในช่วงอายุ 2-6 ปี ซึ่งมักเกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัส และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่

 

ส่วนในผู้ใหญ่อาจเกิดหลังติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดและอาจมีอาการนานเกิน 6 เดือน ซึ่งเรียกว่า "ไอทีพีชนิดเรื้อรัง"

มะเร็งเม็ดเลือดขาว
มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลิวคีเมีย ก็เรียก) หมายถึง มะเร็งที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาววัยอ่อนในไขกระดูกมีการเจริญแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ และกลายเป็นเซลล์ผิดปกติ (ไม่สามารถเจริญเป็นเม็ดเลือดขาวตัวแก่ที่ทำหน้าที่แบบเม็ดเลือดขาวปกติ และมีการแก่ตัวและเซลล์ตายช้ากว่าปกติ) สามารถแพร่กระจายแทรกซึมไปอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม กระดูก สมอง อัณฑะ ผิวหนัง รวมทั้งแทรกซึมในไขกระดูก ทำลายกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดในไขกระดูก ก่อให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จนเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
 
มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีอยู่หลายชนิด โดยหลัก ๆ แบ่งเป็น ชนิดเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากเซลล์วัยอ่อน (blast cell) มีอาการเกิดขึ้นฉับพลัน ลุกลามรวดเร็วและรุนแรง และชนิดเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เริ่มเป็นตัวแก่ ลุกลามช้า และมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป
 
หากแบ่งตามชนิดของเซลล์ต้นกำเนิดของโรค สามารถแบ่งเป็นเซลล์ที่จะเจริญเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (lymphocyte) และเซลล์ที่จะเจริญเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดอื่น รวมทั้งเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือด (myeloid cell/myelocyte)
 
มะเร็งเม็ดเลือดขาวจึงแบ่งเป็น 4 ชนิดใหญ่ ๆ  ได้แก่ acute lymphocytic (lymphoblastic) leukemia (ALL), acute myelogenous (myeloblastic) leukemia (AML), chronic lymphocytic leukemia (CLL) และ chronic myelocytic (myelogenous) leukemia (CML)
 
ทุกชนิดพบได้ในคนทุกวัย แต่อาจพบมากในเด็กหรือผู้ใหญ่แตกต่างกันดังนี้
  • ชนิด ALL พบมากในเด็กอายุ 2-5 ปี (พบได้ถึงร้อยละ 80 ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก) อาจพบในผู้ใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุมากกว่า 65 ปี
  • ชนิด AML เป็นมะเร็งเม็ดเลือดที่พบได้มากที่สุด พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
  • ชนิด CLL พบบ่อยในผู้ใหญ่ และมีความชุกของโรคมากขึ้นตามอายุ พบมากในกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี
  • ชนิด CML เป็นชนิดที่พบได้น้อย พบบ่อยในผู้ใหญ่อายุ 40-60 ปี พบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี
เล็ปโตสไปโรซิส/ไข้ฉี่หนู
เล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เป็นโรคติดเชื้อที่พบได้เป็นครั้งคราวในแทบทุกจังหวัด พบมากในคนที่มีอาชีพที่ต้องย่ำน้ำหรือแช่น้ำ เช่น ทำนา ทำสวน จับปลา เก็บขยะ ขุดท่อ เลี้ยงสัตว์ ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ทำเหมืองแร่ แม่บ้านที่เตรียมอาหารจากเนื้อสัตว์ นักท่องเที่ยวที่นิยมเที่ยวป่า น้ำตก ทะเลสาบ ว่ายน้ำในแหล่งน้ำจืด เป็นต้น
 
พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2.5 เท่า ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 15-54 ปี
 
โรคนี้พบได้ประปรายตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีน้ำขัง หรือเกิดภาวะน้ำท่วม มีเชื้อโรคขังอยู่ในน้ำ เมื่อคนเดินลุยน้ำหรือลงแช่น้ำก็มีโอกาสได้รับเชื้อนี้ บางครั้งอาจพบมีการระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีภาวะน้ำท่วม
 
ในระยะหลังๆ นี้ พบผู้ป่วยเป็นโรคนี้กันมากทางภาคอีสาน เนื่องจากมีหนูชุกชุมตามท้องนา และมักจะเป็นชนิดรุนแรง ชาวบ้านเรียกว่า ไข้ฉี่หนู
ธาลัสซีเมีย
ธาลัสซีเมีย เป็นโรคโลหิตจางที่มีสาเหตุจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ชนิดหนึ่ง ทำให้ร่างกายสร้างโปรตีนโกลบิน (ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเฮโมโกลบิน*) ที่มีลักษณะผิดปกติ ทำให้เม็ดเลือดแดงของผู้ป่วยมีอายุสั้นและแตกง่าย เป็นผลให้เกิดอาการซีดเหลืองเรื้อรังและมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา
 
ในบ้านเราพบว่ามีผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 1 และมีทารกเกิดใหม่เป็นโรคนี้ปีละมากกว่า 10,000 ราย
 
นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ที่เป็นพาหะของโรคนี้ (มียีนผิดปกติแฝงอยู่โดยไม่เป็นโรค แต่สามารถถ่ายทอดให้ลูกหลานได้) ในหมู่คนไทย โดยเฉลี่ยร้อยละ 30-45 ซึ่งจะพบมีอยู่ในทุกภาคของประเทศ สำหรับภาคอีสานจะมีพาหะของธาลัสซีเมียชนิดเฮโมโกลบินอี (haemoglobin E) สูง ส่วนภาคเหนือจะมีพาหะของแอลฟาธาลัสซีเมียมาก
 
ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียมักพบว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ หรือเป็นพาหะของโรคนี้ร่วมด้วยเสมอ
 
* เฮโมโกลบิน (haemoglobin) เป็นสารที่ให้สีแดงในเม็ดเลือดแดงประกอบขึ้นด้วยโปรตีนที่เรียกว่า โกลบิน (globin) และเฮม (heme) ซึ่งมีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ เฮโมโกลบินมีหน้าที่นำออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกาย
โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก, ภาวะพร่องเอนไซม์ จี-6-พีดี
เม็ดเลือดแดง ที่ปกติจะมีชีวิตประมาณ 120 วัน กล่าวคือ จะไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดประมาณ 120 วัน แล้วเสื่อมสลายไป โดยถูกทำลายที่ม้ามเป็นส่วนมาก ในแต่ละวันจึงมีเม็ดเลือดแดงที่แก่ตัวแล้วเสื่อมสลายไปจำนวนหนึ่ง และมีเม็ดเลือดแดงใหม่ที่ไขกระดูกสร้างเข้ามาทดแทนจำนวนหนึ่ง จึงอยู่ในภาวะสมดุล ไม่เกิดภาวะโลหิตจาง แต่ถ้าหากมีภาวะผิดปกติเกิดขึ้น เม็ดเลือดแดงจะมีชีวิตสั้นกว่าปกติ ถูกทำลายเร็วขึ้น ซึ่งถ้าหากมีการสลายของเม็ดเลือดแดงจำนวนมากจนไขกระดูกสร้างทดแทนให้ไม่ทัน ก็จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง เรียกว่า โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (hemolytic anemia) ผู้ป่วยจะมีอาการซีดเหลือง ปัสสาวะสีน้ำปลา อ่อนเพลีย บางรายอาจมีไข้สูง หนาวสั่น ตับโต ม้ามโต

ภาวะโลหิตจางชนิดนี้ อาจมีสาเหตุได้หลายอย่างที่พบบ่อยในบ้านเรา ได้แก่ ธาลัสซีเมีย (ดูโรคธาลัสซีเมีย) และภาวะพร่องเอนไซม์ จี-6-พีดี (G-6-PD deficiency)

ในที่นี้จะกล่าวถึงภาวะพร่องเอนไซม์ จี-6-พีดี

ภาวะพร่องเอนไซม์ จี-6-พีดี (G-6-PD deficiency)

เอนไซม์ จี-6-พีดี (G-6-PD ซึ่งย่อมาจาก glucose-6-phosphate dehydrogenase) เป็นเอนไซม์ที่มีอยู่ในเซลล์ทั่วไปของร่างกายรวมทั้งเม็ดเลือดแดง ถ้าขาดเอนไซม์ชนิดนี้จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย
 
โรคนี้เฉลี่ยทั่วประเทศพบได้ประมาณร้อยละ 12 ของประชากรทั่วไป ทางภาคอีสานพบได้ร้อยละ 12-15 ของประชากรทั่วไป และภาคเหนือพบได้ร้อยละ 9-15 ของประชากรทั่วไป