แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ให้ผู้ป่วยงดอาหารแข็ง อาหารรสจัด และอาหารที่มีกากใย (เช่น ผัก ผลไม้) ให้กินอาหารอ่อน หรืออาหารเหลว เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำข้าว น้ำหวานแทน
2. ให้การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้-พาราเซตามอล และให้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่
3. ถ้ามีอาการถ่ายท้องหรืออาเจียนรุนแรง หรือมีภาวะขาดน้ำรุนแรง จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และส่งอุจจาระตรวจหาเชื้อ
4. โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นในรายที่เป็นรุนแรง หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น นอร์ฟล็อกซาซิน, โอฟล็อกซาซิน, ไซโพรฟล็อกซาซิน, โคไตรม็อกซาโซล, อีริโทรไมซิน หรือกลุ่มเซฟาโลสปอริน) ถ้าสงสัยเกิดจากเชื้ออีโคไล, ซัลโมเนลลา, วิบริโอพาราฮีโมไลติคัส, แคมไพโลแบกเตอร์เจจูไน, อหิวาต์ หรือบิดชิเกลลา
ผลการรักษา ส่วนใหญ่มักหายเป็นปกติภายใน 24-72 ชั่วโมง บางรายอาจนาน 5-7 วัน น้อยรายที่จะมีอาการรุนแรง ซึ่งหากรักษาได้ทันการณ์ก็จะหายได้ แต่ถ้าได้รับการรักษาล่าช้าไปก็จะมีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาจถึงขั้นเป็นอันตรายได้