แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล
1. ถ้าพบว่าเป็นภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ชนิดเอ (รอยปริอยู่ใกล้หัวใจ) จำเป็นต้องทำการผ่าตัดแก้ไขโดยด่วน หากไม่รักษา ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 48 ชั่วโมง และร้อยละ 90 เสียชีวิตภายใน 1 เดือน ขณะที่ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดมีอัตราตายประมาณร้อยละ 15 ส่วนผู้ที่มีชีวิตอยู่รอดเกิน 2 สัปดาห์หลังผ่าตัดจะมีอัตราการอยู่รอดเกิน 5 ปีถึงร้อยละ 70-80 (ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้สามารถอยู่รอดเกิน 10 ปีขึ้นไป)
2. ถ้าพบว่าเป็นชนิดบี (รอยปริอยู่ใต้จุดแยกของหลอดเลือดแดงใต้กระดูกไหปลาร้า) การผ่าตัดมีความเสี่ยงสูง ส่วนใหญ่แพทย์จะให้การรักษาทางยา คือ ให้ยาลดความดัน (เช่น โซเดียมไนโตรพรัสไซด์) และลดอัตราการเต้นของชีพจร (เช่น โพรพราโนลอล) ให้ต่ำลง เพื่อลดแรงดันต่อหลอดเลือด รูปริที่ผนังหลอดเลือดจะปิดได้เองในที่สุด เมื่ออาการหายดีแล้ว แพทย์จะนัดมาตรวจทุก 3-6 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยดี พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 30 อาจเกิดภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในระยะต่อมา ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
ส่วนน้อยที่พบว่ามีภาวะแทรกซ้อนหรือมีการลุกลามมากยิ่งขึ้น แพทย์จะทำการผ่าตัดแก้ไขโดยด่วน แบบเดียวกับชนิดเอ ซึ่งมีอัตราการอยู่รอดเกิน 5 ปี ร้อยละ 50-70
ผู้ป่วยที่เป็นภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ชนิดบี หากไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งเลยมีอัตราตายประมาณร้อยละ 10-20 จากผนังหลอดเลือดแตก และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ