แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้
ในรายที่เป็นท้องเดินชนิดเฉียบพลัน
1. ให้ผู้ป่วยงดอาหารแข็ง อาหารรสจัด และอาหารที่มีกากใย (เช่น ผัก ผลไม้) ให้กินอาหารอ่อน หรืออาหารเหลว เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำข้าว น้ำหวานแทน
ในทารกให้ดื่มนมมารดาตามปกติ ถ้าดื่มนมผงในระยะ 2-4 ชั่วโมงแรก ให้ผสมนมเจือจางลงเท่าตัวแล้วค่อยให้ดื่มนมผสมตามปกติ
2. ให้น้ำเกลือ
ก. ผู้ป่วยยังกินได้ ไม่อาเจียน หรืออาเจียนเพียงเล็กน้อย ให้กินสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ โดยผสมผงน้ำตาลเกลือแร่ขององค์การเภสัชกรรมกับน้ำสุกดื่มต่างน้ำบ่อย ๆ ครั้งละ ½-1 ถ้วย (250 มล.) หรือจะใช้น้ำเกลือผสมเองก็ได้ โดยใช้น้ำสุก 1 ขวดน้ำปลาใหญ่ (หรือขนาดประมาณ 750 มล.) ผสมกับน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ (25-30 กรัม) และเกลือป่น ½ ช้อนชา (1.7 กรัม) หรือจะใช้น้ำอัดลมหรือน้ำข้าวต้มใส่เกลือ (ใส่เกลือ ½ ช้อนชาในน้ำอัดลมหรือน้ำข้าว 1 ขวดน้ำปลาใหญ่) ก็ได้
ในเด็กเล็ก ในช่วง 4 ชั่วโมงแรกให้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ในปริมาณ 50 มล./กก. (สำหรับภาวะขาดน้ำเล็กน้อย และ 100 มล./กก. (สำหรับภาวะขาดน้ำเห็นได้ชัด)
ข. ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนเล็กน้อย แต่ยังพอดื่มน้ำเกลือหรือน้ำข้าวต้มได้ ให้คอยสังเกตว่าได้รับน้ำเข้าไปมากกว่าส่วนที่อาเจียนออกมาหรือไม่ ถ้าอาเจียนออกมามากกว่าส่วนที่ดื่มเข้าไป หรือมีอาการอาเจียนมาก แพทย์จะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำแทน
3. ยาแก้ท้องเดิน ไม่มีประโยชน์ในการรักษาอาการท้องเดิน และถ้าใช้ผิด ๆ อาจเกิดโทษได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กและผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากโรคติดเชื้อ ดังนั้น ในปัจจุบันจึงไม่แนะนำให้ใช้ยาแก้ท้องเดิน แต่เน้นที่การให้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (ดังในข้อ 2.ก) ให้ได้เพียงพอ อาการท้องเดินก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น
4. ยาปฏิชีวนะ ส่วนใหญ่ไม่ต้องให้ ควรให้เฉพาะรายที่สงสัยเป็นบิด อหิวาต์ หรือไทฟอยด์เท่านั้น
5. ถ้าทราบสาเหตุของท้องเดิน ให้รักษาตามสาเหตุ
6. ติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของโรค ถ้าถ่ายรุนแรง ปวดท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง มีภาวะขาดน้ำมากขึ้น มีภาวะขาดน้ำรุนแรง หรือช็อกอย่างใดอย่างหนึ่ง แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล
อาการที่แสดงว่าผู้ป่วยดีขึ้น ได้แก่
- ถ่ายและอาเจียนน้อยลง
- ภาวะขาดน้ำลดน้อยลง
- ปัสสาวะออกมากขึ้น
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- หน้าตาแจ่มใส ลุกนั่งหรือเดินได้ เด็กเล็กเริ่มวิ่งเล่นได้
ในรายที่เป็นท้องเดินชนิดเรื้อรัง ถ้ามีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซีด มีไข้เรื้อรัง หรือถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด หลังเข้านอนกลางคืนต้องตื่นขึ้นถ่ายท้องตอนดึก หรือมีอาการอุจจาระราด (กลั้นไม่อยู่) แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุ และให้รักษาตามสาเหตุที่พบ (
ตรวจอาการท้องเดินเรื้อรัง)
ผลการรักษา ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่มักหายเป็นปกติและไม่มีภาวะแทรกซ้อน ในรายที่เป็นเรื้อรัง การรักษามักช่วยให้ควบคุมอาการได้เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นในรายที่มีสาเหตุร้ายแรง (เช่น มะเร็งทางเดินอาหาร ลำไส้อักเสบเรื้อรัง) ก็อาจเพียงช่วยบรรเทาอาการและชะลอภาวะแทรกซ้อน ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี