1. เมื่อมีอาการหอบหืดกำเริบฉับพลัน ให้ยาขยายหลอดลมชนิดสูด (เช่น ยากระตุ้นบีตา 2) ทันที เพื่อบรรเทาอาการ ถ้ายังไม่ทุเลา สามารถให้ซ้ำได้อีก 1-2 ครั้งทุก 20 นาที
หากผู้ป่วยรู้สึกหายดี แพทย์จะทำการประเมินอาการ สาเหตุกระตุ้น และประวัติการรักษาอย่างละเอียด
2. ในกรณีที่มีประวัติเป็นโรคหืดและมียารักษาอยู่ประจำ ถ้าผู้ป่วยมีอาการตอนกลางวันไม่เกิน 2 ครั้ง/สัปดาห์ สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ และไม่มีอาการตอนกลางคืน ก็ให้การรักษาแบบกลุ่มที่ควบคุมโรคได้ (ดูตาราง "การแบ่งระดับของการควบคุมโรค") โดยให้ใช้ยาที่เคยใช้อยู่เดิมต่อไป
3. ในกรณีที่ผู้ป่วยเพิ่งมีอาการครั้งแรกและไม่เคยได้รับยารักษามาก่อน แพทย์จะให้ยารักษา (ส่วนใหญ่ใช้ยาชนิดสูดพ่นเป็นพื้นฐาน บางรายอาจให้ยาชนิดกินร่วมด้วย) ด้วยชนิดและขนาดมากน้อยตามระดับความรุนแรงของโรค นอกจากนี้แพทย์จะทำการตรวจสมรรถภาพของปอด ให้สุขศึกษาและคำแนะนำในการปฏิบัติตัวต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง และการหลีกเลี่ยงสาเหตุกระตุ้น
4. แพทย์จะติดตามผู้ป่วยทุก 1-3 เดือน เพื่อประเมินอาการและปรับเปลี่ยนการรักษาที่เหมาะสมตามอาการในแต่ละช่วง
5. แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ถ้าผู้ป่วยมีอาการกำเริบและมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
6. ในรายที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดกำเริบรุนแรง หรือภาวะหืดต่อเนื่อง มีแนวทางในการรักษาดังนี้
- ให้ออกซิเจน และสารน้ำ (น้ำเกลือ)
- ให้ยาขยายหลอดลม ออกฤทธิ์สั้น ชนิดสูด
- ให้สตีรอยด์ชนิดสูดในขนาดสูงกว่าเดิม
- ในรายที่มีอาการรุนแรงปานกลางและมากให้สตีรอยด์ชนิดฉีดหรือกิน
- เมื่ออาการดีขึ้น (มักได้ผลภายใน 36-48 ชั่วโมง) ก็ให้กินต่อจนครบ 5 วัน
- ในรายที่หอบรุนแรงจนเกิดภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว อาจต้องใส่ท่อหายใจและเครื่องช่วยหายใจและแก้ไขภาวะผิดปกติต่าง ๆ พร้อมกัน
เมื่อควบคุมอาการได้แล้ว แพทย์จะนัดติดตามดูอาการภายใน 2-4 สัปดาห์
7. ผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดทุกราย แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาระยะยาวเพื่อควบคุมอาการให้น้อยลง ป้องกันอาการกำเริบรุนแรงเฉียบพลัน ฟื้นฟูสมรรถภาพของปอดให้กลับคืนสู่ปกติ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน ป้องกันการเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นอย่างถาวร โดยมีแนวทางการดูแลรักษาดังนี้
(1) ประเมินความรุนแรงของโรค โดยพิจารณาจากอาการแสดง (ความถี่ของอาการกำเริบตอนกลางวัน และตอนกลางคืน) ร่วมกับการตรวจสมรรถภาพของปอด (ดูค่า FEV1 และ PEF)*
(2) ให้ยารักษาโรคหืด ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มยาบรรเทาอาการ ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดลม (เช่น ยากระตุ้นบีตา 2) และกลุ่มยาควบคุมโรค ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยลดการอักเสบและการบวมของผนังหลอดลม (เช่น ยาสตีรอยด์) แพทย์จะเลือกใช้ชนิดและขนาดของยาตามระดับของการควบคุมโรค ดังนี้
- กลุ่มควบคุมได้ ให้การรักษาตามขั้นตอนเดิมต่อไปอย่างน้อย 3 เดือน แล้วค่อย ๆ ปรับลดยาลงทีละน้อย จนกว่าจะใช้การรักษาขั้นที่ต่ำสุดที่ยังสามารถควบคุมอาการได้
- กลุ่มควบคุมได้บางส่วน และกลุ่มควบคุมไม่ได้ แพทย์จะปรับเพิ่มขั้นตอนการรักษาจนกว่าจะสามารถควบคุมอาการได้ภายใน 1 เดือน โดยก่อนปรับยา จะทบทวนว่าผู้ป่วยมีการใช้ยาตามสั่ง และใช้ถูกวิธีหรือไม่ รวมทั้งได้หลีกเลี่ยงสาเหตุกระตุ้นหรือไม่ และแก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน
หลังจากควบคุมอาการได้แล้ว จะติดตามผลการรักษาต่อไปทุก 1-3 เดือน และปรับขั้นตอนการรักษาให้เหมาะกับระดับของการควบคุมโรค ซึ่งสามารถแปรเปลี่ยน (ดีขึ้นหรือเลวลง) ไปได้เรื่อย ๆ
ในเด็กที่มีสาเหตุจากสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้และอาการไม่ดีขึ้นหลังการใช้ยาหรือไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยา แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วย การขจัดภูมิไว (desensitization)**
(3) ให้การรักษาโรคที่พบร่วม เช่น หวัดภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ โรคกรดไหลย้อน เป็นต้น
(4) แนะนำให้หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าหรือสาเหตุกระตุ้นและการปฏิบัติตัวต่าง ๆ (อ่านเพิ่มเติมที่หัวข้อ "การป้องกัน" ด้านล่าง)
(5) ติดตามผลการรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและทำการตรวจสมรรถภาพของปอดเป็นระยะ ในรายที่เป็นโรคหืดรุนแรงหรือมีอาการกำเริบบ่อย แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยใช้เครื่องวัดการไหลของลมหายใจออกสูงสุด (peak flow meter) ไปตรวจเองที่บ้านทุกวัน เพื่อตรวจภาวะหลอดลมตีบซึ่งจะพบก่อนมีอาการแสดงนานเป็นชั่วโมงถึงเป็นวัน ผู้ป่วยจะได้รีบใช้ยารักษาหรือไปพบแพทย์ปรับยาให้เหมาะสม นอกจากนี้แพทย์ยังแนะนำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง
ผลการรักษา ส่วนใหญ่สามารถควบคุมอาการได้ดี
ถ้ามีอาการเริ่มเป็นตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อโตขึ้นหรือย่างเข้าวัยหนุ่มสาว อาการอาจทุเลาจนสามารถหยุดการใช้ยาสูดบรรเทาอาการได้ แต่บางรายเมื่ออายุมากขึ้นก็อาจมีอาการกำเริบได้อีก
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีการอักเสบของหลอดลมอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่มีอาการหอบเหนื่อยแล้ว หากขาดการให้ยาควบคุมโรค (ลดการอักเสบ) ก็อาจเกิดภาวะทางเดินหายใจผิดปกติและอุดกั้นในระยะยาวได้ ดังนั้น ถึงแม้จะมีอาการทุเลาแล้วก็ควรติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง
ส่วนในรายที่มีอาการมาก จำเป็นต้องได้รับยาอย่างเพียงพอ หากขาดยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาสตีรอยด์มาก่อน ก็อาจมีอาการกำเริบรุนแรงเฉียบพลัน ถึงขั้นกลายเป็นภาวะหืดดื้อ เป็นอันตรายได้
ปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะมีอัตราตายต่ำ