1. ระบุอาการเบื้องต้น
  2. ตอบคำถาม
  3. ผลตรวจอาการ
  1. 1
  2. 2
  3. 3

มีเสียงดังผิดปกติในหู หรือมีเสียงอื้อในหูข้างเดียวหรือสองข้าง โดยที่ไม่ได้เกิดจากการได้ยินเสียงจากภายนอก อาจเกิดขึ้นเป็นชั่วครั้งชั่วคราว (นาน 2-3 นาที) หรือต่อเนื่องตลอดเวลานานหลายสัปดาห์หรือมากกว่าก็ได้
เสียงที่ดังในหู อาจเป็นเสียงค่อยหรือเสียงดังรบกวน จนทำให้เสียสมาธิหรือนอนไม่หลับ และอาจเป็นเสียงในลักษณะต่างๆ เช่น เสียงก้องกังวาน เสียงดังกริ๊ง เสียงฮึมฮัม เสียงหึ่งๆ อื้อๆ แก๊กๆ ตุบๆ ฟู่ๆ คล้ายเสียงกริ่ง เสียงกระดิ่ง เสียงระฆัง เสียงโทรศัพท์ เสียงเครื่องจักร เสียงผิวปาก เสียงฮัมเพลง เสียงลม เสียงจิ้งหรีด เสียงผึ้ง เป็นต้น
สาเหตุที่พบบ่อย : ขี้หูอุดตันรูหู หวัดภูมิแพ้ หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน หูชั้นนอกอักเสบ สิ่งแปลกปลอมเข้าหู

  • 1.

    ปวดหู หรือ ซีด?

  • 2.

    หูตึงหรือหูหนวก (ฟังได้ไม่ชัดหรือไม่ได้ยิน)?

  • 3.

    มีอาการบ้านหมุน นานเป็นชั่วโมงๆ /เป็นวันๆ หรือเป็นๆ หายๆ เรื้อรังเป็นแรมเดือน/แรมปี?

  • 4.

    มีอาการเกิดขึ้นหลังได้รับบาดเจ็บที่บริเวณศีรษะหรือต้นคอ?

  • 5.

    ปวดศีรษะทุกวันติดต่อกันเป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นเดือนๆ?

  • 6.

    ปวดรุนแรงที่ขมับ 1-2 ข้าง ในคนอายุมากกว่า 50 ปี? ร่วมกับ คลำได้เส้นปูดเป็นลำแข็งและกดเจ็บตรงบริเวณขมับข้างที่ปวด?

  • 7.

    มีอาการบ้านหมุน/ปวดตุบๆ ที่ขมับ 1-2 ข้าง นานเป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ ? และ มีประวัติเป็นโรคไมเกรนหรือเคยมีอาการปวดตุบๆ ที่ขมับบ่อยๆ?

  • 8.

    มีอาการหูอื้อเรื้อรัง (นานเกิน 2-3 สัปดาห์) ร่วมกับข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้?

    • น้ำหนักลด?
    • คลำได้ก้อนที่ข้างคอ?
    • เสียงแหบ?
    • คัดจมูกเรื้อรัง?
    • มีเลือดกำเดาไหล/มีน้ำมูกปนเลือดบ่อย?

  • 9.

    น้ำหนักลด ร่วมกับอาการอย่างน้อย 2 ข้อ ดังต่อไปนี้?

    • รู้สึกใจสั่น หรือเหนื่อยง่าย?
    • ขี้ร้อน หรือเหงื่อออกมาก?
    • มือสั่น?
    • คอพอก?
    • ตาโปน?
    • ชีพจรมากกว่า 120 ครั้ง/นาที?

  • 10.

    มีอาการอ่อนเพลีย/น้ำหนักขึ้น ร่วมกับอาการอย่างน้อย 2 ข้อ ต่อไปนี้?

    • หนังตาบวม?
    • เส้นผมบางและหักง่าย?
    • ผิวหนังหยาบแห้งและเย็น?
    • ขี้หนาว?
    • เสียงแหบ?
    • เฉื่อยชา/คิดช้า?

  • 11.

    ปวดตามข้อนิ้วมือนิ้วเท้า พร้อมกันทั้ง 2 ข้าง อย่างเรื้อรัง? หรือ มีประวัติเป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์/เอสแอลอี?

  • 12.

    ความดันโลหิตช่วงบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 หรือช่วงล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มม.ปรอท? หรือ มีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง?

  • 13.

    กระหายน้ำบ่อย หิวบ่อย และปัสสาวะบ่อย? มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน? หรือ ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะหรือน้ำตาลในเลือดสูง?

  • 14.

    มีแมลงหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าหู?

  • 15.

    มีอาการทันทีหลังว่ายน้ำ/ดำน้ำ/น้ำเข้าหู?

  • 16.

    เป็นไข้หวัด/เจ็บคอ? ร่วมกับ ปวดหู/น้ำหนวกไหล?

  • 17.

    มีอาการเป็นๆ หายๆ เป็นครั้งคราว และมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้?

  • 18.

    เป็นหลังฉีดยาหรือกินยา หรือ หลังดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ โคล่า ช็อกโกแลต หรือสูบบุหรี่? (ดูข้อมูลการใช้ยาด้านล่าง)

    ข้อมูลการใช้ยา ยาที่ทำให้หูอื้อ เช่น แอสไพริน, ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์, คลอโรควีน, ควินิน, เตตราไซคลีน, ดอกซีไซคลีน, อีริโทรไมซิน, ยาแก้แพ้ (คลอร์เฟนิรามีน), สูโดเอฟีดรีน, ฟูโรซีไมด์, โคไตรม็อกซาโซล, อะมิทริปไทลีน เป็นต้น

  • 19.

    ได้ยินเสียงดัง (เช่น เสียงตุบๆ หรือเสียงหวีดหวิว) ตามจังหวะการเต้นของชีพจร?

ควรไปพบแพทย์ ภายใน 2-3 วัน เพื่อตรวจหาสาเหตุ 
หมายเหตุ : อาการของคุณข้างต้นอาจเป็นสัญญาณของ
ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis)/โรคหัวใจและหลอดเลือด/เนื้องอกหรือหลอดเลือดผิดปกติในสมองหรือบริเวณคอ หรือโรคอื่น ๆ
หมายเหตุ : ผู้ที่มีอาการมีเสียงในหู ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุ และควรดูแลตนเอง เพื่อบรรเทาอาการเสียงในหู ดังนี้
  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้อาการเป็นมากขึ้น เช่น สุรา ยาสูบ ชา กาแฟ เป็นต้น
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ควรหนุนศีรษะให้สูง ซึ่งจะช่วยให้เสียงในหูลดลง
  • หาทางผ่อนคลายความเครียด ความวิตกกังวล เพราะความเครียดทำให้อาการเป็นมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีเสียงดัง หรือใช้ที่อุดหู (earplugs) ถ้าจำเป็น
หมายเหตุ
ผลตรวจอาการเบื้องต้นดังกล่าว เป็นเพียงอาการ ภาวะ หรือโรคที่พบได้บ่อยเท่านั้น เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ควรเข้ารับการตรวจอาการโดยตรงอีกครั้งจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ณ สถานพยาบาล ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน
หัวใจขาดเลือด/หลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจขาดเลือดชั่วขณะ กล้ามเนื้อหัวใจตาย

โรคหัวใจขาดเลือด/โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (ischemic heart disease/IHD) หรือโรคหลอดเลือดโคโรนารี (coronary artery disease/CAD) หมายถึง โรคหัวใจที่เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ดังที่เรียกว่า หลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดโคโรนารี (coronary artery) ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลงหรือชะงักไป เมื่อผู้ป่วยมีภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้น หรือมีออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อน้อยลง ก็จะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว โดยที่ยังไม่มีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจเกิดขึ้น อาการดังกล่าวเรียกว่า โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (angina pectoris)

 

แต่ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจมีการตายเกิดขึ้นบางส่วน เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตันจากลิ่มเลือด เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้เลย ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง ซึ่งมักจะมีภาวะช็อกและหัวใจวายร่วมด้วย เรียกว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction/MI)

 

โรคนี้มักจะพบได้มากขึ้นตามอายุ ส่วนมากจะมีอาการเริ่มแรกเมื่อมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มักไม่พบในผู้ชายอายุต่ำกว่า 30 ปี หรือผู้หญิงอายุต่ำกว่า 40 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

 

คนที่อยู่ดีกินดี คนที่มีอาชีพทำงานนั่งโต๊ะและคนในเมืองมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนยากจน คนที่มีอาชีพใช้แรงงาน และชาวชนบท

 

ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย

หลอดเลือดสมอง สมองขาดเลือดชั่วขณะ อัมพาตครึ่งซีก
โรคหลอดเลือดสมอง/อัมพาตครึ่งซีก* จัดว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อยในบ้านเราขณะนี้ มักพบในวัยกลางคนขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ และเป็นได้ทั้งหญิงและชาย
 
โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงในสมอง กล่าวคืออาจมีการแตก ตีบ หรือตันของหลอดเลือดเหล่านี้ ทำให้เนื้อสมองบางส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายตายไปและหยุดสั่งงาน จึงทำให้เกิดอาการอัมพาตของร่างกายส่วนนั้น ๆ ขึ้น
 
อาการมักจะเกิดขึ้นฉับพลันทันที เรียกว่า โรคลมอัมพาต โรคลมปัจจุบัน หรือสโตร๊ก (stroke)
 
*อัมพาต (paralysis) หมายถึง อาการอ่อนแรงของแขนขาหรืออวัยวะภายนอกอื่น ๆ (เช่น ใบหน้า ตา ปาก) ทำให้ร่างกายส่วนนั้นเคลื่อนไหวไม่ได้หรือได้น้อยกว่าปกติ โดยอาจมีอาการชา (ไม่รู้สึกเจ็บ) ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
 
ถ้าขาทั้ง 2 ข้างมีอาการอ่อนแรง หรือขยับเขยื้อนไม่ได้ เรียกว่า อัมพาตครึ่งล่าง (paraplegia) ถ้าแขนขาทั้ง 4 ขยับเขยื้อนไม่ได้ เรียกว่า อัมพาตหมดทั้งแขนขา (quadriplegia) อัมพาตทั้ง 2 ลักษณะนี้มักมีสาเหตุจากโรคของไขสันหลัง (ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน, ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ, เนื้องอกไขสันหลัง)
 
แต่ถ้าแขนขาเพียงซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรง หรือขยับเขยื้อนไม่ได้ เรียกว่า อัมพาตครึ่งซีก (hemiplegia) ซึ่งเป็นเรื่องที่จะกล่าวถึงในที่นี้
เนื้องอกสมอง

เนื้องอกสมอง หมายถึง เนื้องอกที่เกิดขึ้นภายในกะโหลกศีรษะ ซึ่งสามารถเกิดจากเซลล์ได้ทุกชนิดที่มีอยู่ในเนื้อเยื่อทุกส่วนของกะโหลกศีรษะ เนื้องอกสมองจึงมีอยู่ร่วมร้อยชนิด ซึ่งมีชื่อเรียกตามชนิดของเซลล์ 

 

เนื้องอกสมองมีทั้งชนิดไม่ร้ายหรือเนื้องอกธรรมดา กับเนื้องอกชนิดร้ายหรือมะเร็ง และยังแบ่งเป็นชนิดปฐมภูมิ ซึ่งเกิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อภายในกะโหลกศีรษะเอง (มีทั้งเนื้องอกธรรมดา และมะเร็ง) กับชนิดทุติยภูมิ ซึ่งเป็นมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากนอกกะโหลกศีรษะ*

 

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ กล่าวโดยรวมแล้ว โรคนี้พบได้บ่อยในกลุ่มอายุ 40-70 ปี ยิ่งอายุมากก็ยิ่งพบได้มาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกชนิดทุติยภูมิมากกว่าชนิดปฐมภูมิ

 

ส่วนในเด็กพบมากในกลุ่มอายุ 3-12 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกชนิดปฐมภูมิ และมักเป็นเนื้องอกธรรมดามากกว่ามะเร็ง เนื้องอกสมองที่พบในเด็กเป็นเนื้องอกที่พบได้มากที่สุดในบรรดาเนื้องอกที่พบในเด็ก

 

โรคนี้มักมีอาการปวดศีรษะเป็นสำคัญ พบว่าผู้ที่มีอาการปวดศีรษะ 100,000 คน มีสาเหตุจากเนื้องอกสมองประมาณ 10 คน

 

นอกจากปวดศีรษะแล้ว เนื้องอกสมองยังมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วยซึ่งมีได้หลากหลาย ตั้งแต่การรับรู้ การทำงานของร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรม เนื่องมาจากเนื้องอกกดเบียดหรือทำลายเนื้อเยื่อสมอง เส้นประสาทสมอง และต่อมฮอร์โมนในสมองมีการหลั่งฮอร์โมนมากเกินหรือน้อยเกิน ทั้งนี้ ขึ้นกับขนาด ชนิด และตำแหน่งของเนื้องอก

 
*เนื้องอกสมอง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ 

1. ชนิดปฐมภูมิ หมายถึง เนื้องอกที่มีต้นกำเนิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะ (เช่น กะโหลกศีรษะ เยื่อหุ้มสมอง เซลล์สมอง เส้นประสาทสมอง ต่อมใต้สมอง ต่อมไพเนียล หลอดเลือด เป็นต้น) มีชื่อเรียกตามชนิดของเซลล์  ซึ่งยังแบ่งเป็นชนิดไม่ร้าย หรือเนื้องอกธรรมดา (benign tumor เช่น meningioma, pituitary tumor, acoustic neuroma, craniopharyngioma) กับชนิดร้ายหรือมะเร็ง (malignant tumor/cancer เช่น  glioma ซึ่งมีหลายชนิดย่อย, medulloblastoma, pineoblastoma) เนื้องอกสมองที่พบในเด็กมักเป็นชนิดปฐมภูมิ และเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายมากกว่าชนิดร้าย 

2. ชนิดทุติยภูมิ หมายถึง มะเร็งที่แพร่กระจายมาจากนอกกะโหลกศีรษะ ที่พบบ่อยได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งไต มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา เนื้องอกสมองชนิดทุติยภูมิพบบ่อยในวัยกลางคนขึ้นไป บางครั้งผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของเนื้องอกสมองมากกว่าอาการของมะเร็งที่เป็นต้นกำเนิด