1. ระบุอาการเบื้องต้น
  2. ตอบคำถาม
  3. ผลตรวจอาการ
  1. 1
  2. 2
  3. 3

มีอาการวิงเวียน ศีรษะตื้อหรือโหวงๆ รู้สึกโคลงเคลง หน้ามืดตาลายคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกว่าบ้านหมุนหรือสิ่งรอบข้างหมุน อาจมีอาการพะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย โดยยังมีความรู้สึกตัว
สาเหตุที่พบบ่อย : บ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า เมารถ เมาเรือ สาเหตุจากยา ความดันตกในท่ายืน ไมเกรน ซีด ร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่พอ โรควิตกกังวล/โรคกังวลทั่วไป

  • 1.

    มีภาวะช็อก (มีอาการกระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น หน้าซีด ลุกนั่งหน้ามืดจะเป็นลม ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเบาและเร็ว)?

  • 2.

    ลุกนั่งจะเป็นลม และชีพจรมากกว่า 100 ครั้ง/นาที?

  • 3.

    ถ่ายดำ ปวดท้อง ท้องเดินรุนแรง หรือ เจ็บหน้าอกรุนแรง?

ควรไปพบแพทย์ด่วน เพื่อตรวจอาการเพิ่มเติม เนื่องจากอาการข้างต้นของคุณ อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงหลายชนิด (ดูโรค  ท้องเดิน/อุจจาระร่วง, อาหารเป็นพิษ, อหิวาต์, เยื่อบุช่องท้องอักเสบ, ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน, กระเพาะอาหารอักเสบ, แผลเพ็ปติก, กระเพาะอาหารทะลุ/แผลเพ็ปติกทะลุ, กระเพาะหรือลำไส้อุดกั้น, ตับ ม้าม หรือไตฉีกขาด เลือดตกใน, ช็อก, โรคหัวใจขาดเลือด/โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย, ครรภ์นอกมดลูก)
หมายเหตุ
ผลตรวจอาการเบื้องต้นดังกล่าว เป็นเพียงอาการ ภาวะ หรือโรคที่พบได้บ่อยเท่านั้น เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ควรเข้ารับการตรวจอาการโดยตรงอีกครั้งจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ณ สถานพยาบาล ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน
ท้องเดิน/อุจจาระร่วง
ท้องเดิน (ท้องร่วง ท้องเสีย อุจจาระร่วง) หมายถึง ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวมากกว่าวันละ 3 ครั้ง หรือถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดเพียงครั้งเดียว
 
ในทารกที่กินนมมารดา ปกติอาจถ่ายอุจจาระเหลว ๆ บ่อยครั้งได้ ไม่ถือว่าเป็นอาการของท้องเดิน แต่ถ้าถ่ายเป็นน้ำจำนวนมากและบ่อยครั้งกว่าที่เคยเป็น ก็ถือว่าผิดปกติ
 
ท้องเดินเป็นอาการที่พบได้บ่อย และมีสาเหตุได้หลายประการ ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง และมักหายได้เอง ส่วนน้อยอาจมีอาการรุนแรงทำให้มีภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ
 
นอกจากอาการถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายเหลว หรือถ่ายมีมูกเลือดปนแล้ว อาจมีอาการไข้ ปวดท้อง อาเจียนร่วมด้วย ซึ่งสุดแล้วแต่สาเหตุที่เป็น (ตรวจอาการ ท้องเดิน และ ท้องเดินเรื้อรัง)
อาหารเป็นพิษจากเชื้อโรค
เชื้อโรคหลายชนิดสามารถปล่อยพิษ (toxin) ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอาหาร เมื่อผู้ป่วยกินพิษเข้าไปก็ทำให้เกิดอาการได้ บางชนิดจะปล่อยพิษหลังจากเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอาหารเข้าไปแบ่งตัวเจริญเติบโตในทางเดินอาหารแล้วผลิตพิษออกมาทำให้เกิดอาการ
อหิวาต์
อหิวาต์ (อหิวาตกโรค โรคอุจจาระร่วงอย่างแรง ก็เรียก) เป็นโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็ว
 
ในสมัยก่อนพบว่าการระบาดแต่ละครั้งมีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นร้อยเป็นพัน จึงมีชื่อเรียกกันมาแต่โบราณว่า โรคห่า
 
ในปัจจุบันโรคนี้ลดความรุนแรงลง และพบระบาดน้อยลง มีรายงานโรคนี้ตามจังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและภาคใต้ พบประปรายทางภาคอีสานและภาคเหนือ โรคนี้พบในเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ มักพบในคนอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป สามารถพบได้ประปรายทุกเดือนตลอดทั้งปี มักพบในถิ่นที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี และในหมู่คนที่กินอาหารที่ไม่ได้ปรุงให้สุกหรือขาดสุขนิสัยที่ดี
เยื่อบุช่องท้องอักเสบ
เยื่อบุช่องท้อง (peritoneum) เป็นเยื่อ 2 ชั้นที่คลุมอยู่โดยรอบช่องท้อง ซึ่งปกคลุมกระเพาะอาหาร ลำไส้และอวัยวะต่าง ๆ ภายในช่องท้อง
 
การอักเสบของเยื่อบุช่องท้องเป็นภาวะร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ มักเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่าง ๆ ภายในช่องท้อง
ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบได้ปีละประมาณ 13-45 คน ต่อประชากร 100,000 คน  นับเป็นโรคที่ต้องเข้าพักรักษาในโรงพยาบาลที่พบบ่อยโรคหนึ่ง เนื่องจากเป็นภาวะร้ายแรงและมีอัตราตายค่อนข้างสูง

พบได้ในคนทุกวัย แต่จะพบได้บ่อยขึ้นตามอายุที่มากขึ้น พบบ่อยในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีภาวะอ้วน เป็นเบาหวาน และผู้ที่มีประวัติว่ามีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
กระเพาะอาหารอักเสบ
กระเพาะอาหารอักเสบ (กระเพาะอักเสบ ก็เรียก) หมายถึง การอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ในปัจจุบันได้แบ่งกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นชนิดเยื่อบุกร่อน (erosive gastritis) ชนิดเรื้อรัง (chronic/nonerosive gastritis) และชนิดจำเพาะ (specific types of  gastritis) โรคนี้พบได้ในคนทั่วไป พบมากในผู้ที่กินยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (ยาแก้ปวดข้อ) ดื่มสุราจัด และผู้สูงอายุ
แผลเพ็ปติก
แผลเพ็ปติก* หมายถึง แผลที่เกิดบนเยื่อบุกระเพาะอาหาร (stomach) ซึ่งเรียกว่า โรคแผลกระเพาะอาหาร หรือแผลจียู (gastric ulcer/GU) หรือแผลที่เยื่อบุลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenum) ซึ่งเรียกว่า โรคแผลลำไส้เล็กส่วนต้น หรือแผลดียู (duodenal ulcer/DU)
 
แผลเพ็ปติกเป็นโรคที่พบได้บ่อย ประมาณร้อยละ10-20 ของคนทั่วไปจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต
 
แผลลำไส้เล็กส่วนต้น (ดียู) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2-4 เท่า และพบมากในช่วงอายุประมาณ 30-55 ปี ขณะที่แผลกระเพาะอาหารพบในผู้ชายพอ ๆ กับผู้หญิง และพบในช่วงอายุประมาณ 55-70 ปี แต่ทั้ง 2 โรคนี้ก็สามารถพบได้ในคนทุกวัย
 
 
*เดิมนิยมเรียกว่า โรคกระเพาะ โดยวินิจฉัยจากอาการแสดง คือ ปวดท้องตรงยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ที่เกิดก่อนหรือหลังอาหาร (หิวแสบ-อิ่มจุก) เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันพบว่าอาการดังกล่าวอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่จำเพาะว่าเกิดจากแผลเพ็ปติกเสมอไป ต้องอาศัยการตรวจโดยการใช้กล้องส่อง หรือเอกซเรย์โดยการกลืนแป้งแบเรียม จึงจะแยกสาเหตุได้ชัดเจน ดังนั้น คำว่า "โรคกระเพาะ" จึงมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า "อาหารไม่ย่อย" ในที่นี้จึงขอใช้คำว่า "แผลเพ็ปติก" ในการเรียกชื่อโรคแผลกระเพาะอาหาร และแผลลำไส้เล็กส่วนต้น
กระเพาะอาหารทะลุ/แผลเพ็ปติกทะลุ

พบในผู้ป่วยแผลเพ็ปติกที่ปล่อยปละละเลย ขาดการรักษาอย่างจริงจัง จนแผลค่อย ๆ กินลึกจนทะลุเป็นรู

กระเพาะหรือลำไส้อุดกั้น
กระเพาะหรือลำไส้อุดกั้น เป็นภาวะที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้เกิดการอุดกั้น ทำให้อาหารผ่านลงไปไม่ได้ ถือเป็นภาวะร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษามักมีอันตรายถึงตายได้
 
โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
ตับ ม้าม หรือไตฉีกขาด เลือดตกใน

ตับ ม้าม หรือไตฉีกขาด เป็นภาวะอันตรายร้ายแรง พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีประวัติได้รับบาดเจ็บที่บริเวณหน้าท้องหรือหลัง

ช็อก
ช็อก ในทางการแพทย์ หมายถึง ภาวะที่เนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกายได้รับเลือดซึ่งมีสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงไม่เพียงพอ อันสืบเนื่องมาจากระบบไหลเวียนของโลหิตล้มเหลวด้วยสาเหตุต่าง ๆ ทำให้อวัยวะสำคัญ ๆ ของร่างกาย เช่น หัวใจ สมอง ตับ ไต ลำไส้ เป็นต้น มีภาวะขาดเลือดและทำหน้าที่ไม่ได้ ซึ่งในที่สุดเกิดภาวะล้มเหลว (failure) ของอวัยวะเหล่านี้จนเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
 
มักพบเป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงของการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่มีอาการรุนแรงหรือขาดการดูแลรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่แรก
 
ผู้ป่วยมักมีประวัติได้รับบาดเจ็บ เป็นโรคติดเชื้อ มีการเจ็บป่วยอื่น ๆ หรือมีการใช้ยามาก่อน
หัวใจขาดเลือด/หลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจขาดเลือดชั่วขณะ กล้ามเนื้อหัวใจตาย

โรคหัวใจขาดเลือด/โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (ischemic heart disease/IHD) หรือโรคหลอดเลือดโคโรนารี (coronary artery disease/CAD) หมายถึง โรคหัวใจที่เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ดังที่เรียกว่า หลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดโคโรนารี (coronary artery) ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลงหรือชะงักไป เมื่อผู้ป่วยมีภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้น หรือมีออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อน้อยลง ก็จะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว โดยที่ยังไม่มีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจเกิดขึ้น อาการดังกล่าวเรียกว่า โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (angina pectoris)

 

แต่ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจมีการตายเกิดขึ้นบางส่วน เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตันจากลิ่มเลือด เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้เลย ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง ซึ่งมักจะมีภาวะช็อกและหัวใจวายร่วมด้วย เรียกว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction/MI)

 

โรคนี้มักจะพบได้มากขึ้นตามอายุ ส่วนมากจะมีอาการเริ่มแรกเมื่อมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มักไม่พบในผู้ชายอายุต่ำกว่า 30 ปี หรือผู้หญิงอายุต่ำกว่า 40 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

 

คนที่อยู่ดีกินดี คนที่มีอาชีพทำงานนั่งโต๊ะและคนในเมืองมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนยากจน คนที่มีอาชีพใช้แรงงาน และชาวชนบท

 

ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย

ครรภ์นอกมดลูก
การตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นภาวะที่ไข่ที่ถูกผสมเกาะตัวอยู่นอกโพรงมดลูก ที่พบบ่อยคือ ที่ท่อรังไข่ แล้วเกิดการแตกทำให้ตกเลือดในช่องท้อง 
 
พบได้ประมาณ 1 ใน 200 ของหญิงตั้งครรภ์ พบมากในหญิงอายุ 35-44 ปี
 
ครรภ์นอกมดลูก