- ระบุอาการเบื้องต้น
- ตอบคำถาม
- ผลตรวจอาการ
- 1
- 2
- 3
มีอาการตัวร้อน หนาวๆ ร้อนๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว หรือตรวจพบว่ามีไข้* อาจมีอาการอ่อนเพลียเมื่อยล้า ปวดศีรษะ หรือเบื่ออาหารร่วมด้วย
สาเหตุที่พบบ่อย : ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ ไข้เลือดออก โควิด-19 ปอดอักเสบ กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน
ถ้ามีไข้ร่วมกับมีน้ำมูกหรือไอ ดู ไข้ร่วมกับมีน้ำมูกหรือไอ
ถ้ามีไข้ร่วมกับมีผื่นหรือตุ่มขึ้น ดู ไข้ร่วมกับมีผื่นหรือตุ่มขึ้น
หมายเหตุ*
ใช้ปรอทวัดไข้ทางปาก มีค่ามากกว่า 37.2 องศาเซลเซียส (ตอนเช้า) หรือ 37.7 องศาเซลเซียส (ตอนบ่าย)
วัดไข้ทางรักแร้ มีค่ามากกว่า 36.7 องศาเซลเซียส (ตอนเช้า) หรือ 37.2 องศาเซลเซียส (ตอนบ่าย)
วัดไข้ทางหู หรือทางทวารหนัก มีค่ามากกว่า 37.7 องศาเซลเซียส (ตอนเช้า) หรือ 38.2 องศาเซลเซียส (ตอนบ่าย)
ข้อพึงระวัง ในช่วงที่มีการระบาดของโรคอุบัติใหม่ (เช่น โรคโควิด 19) หากมีอาการเป็นไข้ หรือ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วย หรือ เดินทางกลับจากประเทศหรือพื้นที่ที่มีการระบาด ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว


- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ที่พบบ่อย คือ ผู้ป่วยเอดส์ (มีโอกาสเป็นวัณโรคในตลอดช่วงถึงร้อยละ 50 หรือ มากกว่าร้อยละ 10 ต่อปี) เบาหวาน ไตวาย ผู้ที่กินยาสตีรอยด์นาน ๆ หรือใช้ยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยติดเชื้อบางชนิด (เช่น หัด ไอกรน ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น) ผู้ที่ตรากตรำงานหนักหรือมีความเครียดสูง
- ผู้ติดยาเสพติดหรือแอลกอฮอล์
- ผู้ที่มีภาวะขาดอาหาร คนจรจัด
- ผู้ที่อยู่ในสถานที่แออัด การระบายอากาศไม่ดี เช่น เรือนจำ ศูนย์อพยพ เป็นต้น
- ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นระยะยาวนาน เช่น สมาชิกในบ้านผู้ป่วย เพื่อนร่วมห้องพักหรือห้องทำงาน
- บุคลากรสาธารณสุขที่ให้การดูแลพยาบาลผู้ป่วย
- ผู้สูงอายุ (พบอุบัติการณ์สูงในกลุ่มอายุมากกว่า 65ปี)
- ทารกแรกเกิด

- วัณโรคต่อมน้ำเหลือง พบบ่อยที่ข้างคอ มีลักษณะเป็นก้อนบวมที่ข้างคอ นุ่ม ไม่มีอาการเจ็บปวด อาจแตกมีหนองไหลเรื้อรัง โบราณเรียก ฝีประคำร้อย ไม่มีอาการเจ็บปวด
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรค มีอาการไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง ซึม ชัก คอแข็ง
- วัณโรคกระดูก เช่น วัณโรคข้อเข่า (มีไข้เรื้อรัง ข้อบวมแดงร้อน) วัณโรคกระดูกสันหลัง (มีอาการปวดหลังเรื้อรัง หลังคดโก่ง กดเจ็บ อาจมีอาการขาอ่อนแรง)
- วัณโรคกล่องเสียง มีอาการเสียงแหบเรื้อรัง
- วัณโรคลำไส้ มีอาการปวดท้องและท้องเดินเรื้อรัง น้ำหนักลด อาจคลำได้ก้อนในท้อง ถ้าลุกลามไปที่เยื่อบุช่องท้องทำให้เกิดอาการท้องมาน
- วัณโรคไต ทำให้กรวยไตอักเสบเรื้อรัง ตรวจพบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะให้ยาปฏิชีวนะ (ที่ไม่ใช่ยารักษาวัณโรค) หลายชนิดแล้วก็ไม่หาย
- วัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจ มีอาการไข้ คอบวม หายใจหอบเหนื่อย
- วัณโรคเยื่อหุ้มปอด มีอาการไข้ แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย มีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด
- ไปพบแพทย์ตามนัด และกินยาให้ครบทุกวันตามที่แพทย์กำหนด
- พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารพวกโปรตีน (เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ)
- งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และยาเสพติด
- จัดบ้านและห้องนอนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกและแสงแดดส่องถึง
- เวลาไอหรือจาม ควรใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปาก
- ควรบ้วนเสมหะลงในภาชนะหรือกระป๋องที่มีฝาปิดมิดชิด แล้วนำเสมหะไปเผาไฟหรือฝังดิน
- ควรแยกออกห่างจากผู้อื่น เช่น แยกห้องนอน อย่าอยู่ใกล้ชิดกับคนอื่น อย่าเข้าไปในห้างสรรพสินค้า รถโดยสารสาธารณะ สถานบันเทิง ที่ชุมนุมชน และควรแยกถ้วย ชาม สำรับอาหารและเครื่องใช้ออกต่างหาก จนกว่าจะกินยารักษาวัณโรคทุกวันแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และหายไอแล้ว ระหว่างนี้หากจำเป็นต้องเข้าใกล้คนอื่น หรือเข้าไปในที่ชุมนุมชน ควรใช้หน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก
- สำหรับแม่ที่เป็นวัณโรคปอด ควรแยกออกห่างจากลูก อย่ากอดจูบลูก และไม่ให้ลูกดูดนมตัวเองจนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อแล้ว
- ผู้ป่วยที่ต้องทำงานกับกลุ่มเสี่ยง (เช่น ผู้ป่วยเอดส์ เด็กเล็ก) ควรอยู่แยกออกห่างจากคนเหล่านี้จนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อแล้ว
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคระยะติดต่อ ผู้ที่พบรอยโรคในปอดจากภาพถ่ายรังสี ซึ่งมีผลการทดสอบทูเบอร์คูลินขนาด ≥ 5 มม. ควรกินยาป้องกันนานอย่างน้อย 12 เดือน
- เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ผู้ที่ฉีดยาเสพติดหรือติดแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ผู้ที่อยู่ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง (เช่น นักโทษในเรือนจำ ผู้สูงอายุในสถานพักฟื้น บุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล เป็นต้น) ซึ่งมีผลการทดสอบทูเบอร์คูลินขนาด ≥ 10 มม.
- บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งมีผลการทดสอบทูเบอร์คูลินขนาด ≥ 15 มม.
เกิดจากเชื้อเอชไอวี* ซึ่งเป็นไวรัสชนิดใหม่ เพิ่งมีการเพาะเลี้ยงแยกเชื้อได้ในปี พ.ศ. 2526 เชื้อนี้มีมากในเลือด น้ำอสุจิ และน้ำเมือกในช่องคลอดของผู้ติดเชื้อ จึงสามารถแพร่เชื้อได้โดย
1. ทางเพศสัมพันธ์ ทั้งต่างเพศและเพศเดียวกัน (ในชายรักร่วมเพศ หรือเกย์)
2. ทางเลือด เช่น การได้รับการถ่ายเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะที่มีเชื้อ การแปดเปื้อนผลิตภัณฑ์จากเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นต้น
ส่วนการใช้ของมีคม (เช่น ใบมีดโกน เป็นต้น) ร่วมกับผู้ติดเชื้อ การสัก การเจาะหู อาจมีโอกาสแปดเปื้อนเลือดที่มีเชื้อได้ แต่จะมีโอกาสติดโรคได้ก็ต่อเมื่อมีแผลเปิด และปริมาณเลือดหรือน้ำเหลืองที่เข้าไปในร่างกายมีจำนวนมากพอ
3. การติดต่อจากมารดาที่มีเชื้อสู่ทารก ตั้งแต่ระยะอยู่ในครรภ์ ระยะคลอด และระยะเลี้ยงดูหลังคลอด โอกาสที่ทารกจะติดเชื้อจากมารดาประมาณร้อยละ 20-50
จากการศึกษาในประเทศต่าง ๆ เท่าที่ผ่านมา ไม่พบว่ามีการติดต่อโดย
- การหายใจ ไอ จามรดกัน
- การกินอาหารและดื่มน้ำร่วมกัน
- การว่ายน้ำในสระ หรือเล่นกีฬาร่วมกัน
- การใช้ห้องน้ำร่วมกัน
- การอยู่ในห้องเรียน ห้องทำงาน ยานพาหนะ หรือการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
- การสัมผัส โอบกอด
- การใช้ครัว ภาชนะเครื่องครัว จาน แก้ว หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกัน
- การใช้โทรศัพท์ร่วมกัน
- การถูกยุงหรือแมลงกัด
เชื้อเอชไอวีเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ก็จะมีการเพิ่มจำนวน สามารถแยกเชื้อไวรัสหรือตรวจพบสารก่อภูมิต้านทาน (แอนติเจน) ได้หลังติดเชื้อ 2-6 สัปดาห์ และจะตรวจพบสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ได้หลังติดเชื้อ 3-12 สัปดาห์
ผู้ที่ตรวจพบสารภูมิต้านทานในเลือดร้อยละ 90 จะมีเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือด ซึ่งสามารถแพร่โรคให้ผู้อื่นได้ แม้จะไม่มีอาการอะไรเลยก็ตาม
เนื่องจากผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะมีการเปลี่ยนของร่างกายแตกต่างกันไป สุดแล้วแต่จำนวนของเชื้อและระดับภูมิคุ้มกัน (จำนวน CD4) ของร่างกาย ดังนั้นโรคนี้จึงสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะด้วยกันดังนี้
1. ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อเอชไอวี (primary HIV infection หรือ acute retroviral syndrome) ระยะนี้นับตั้งแต่เริ่มติดเชื้อเอชไอวี จนกระทั่งร่างกายเริ่มสร้างสารภูมิต้านทาน กินเวลาประมาณ 1-6 สัปดาห์ หลังติดเชื้อผู้ป่วยจะมีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำหนักลด หรือมีฝ้าขาวในช่องปาก อาการเหล่านี้มักจะเป็นอยู่ 1-2 สัปดาห์ (บางรายเพียง 2-3 วัน บางรายอาจนานถึง 10 สัปดาห์) แล้วหายไปได้เอง เนื่องจากอาการคล้ายกับไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้ทั่ว ๆ ไป ผู้ป่วยอาจซื้อยารักษาเอง หรือเมื่อไปพบแพทย์ก็อาจไม่ได้รับการตรวจเลือด นอกจากนี้บางรายหลังติดเชื้ออาจไม่มีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็น ดังนั้น ผู้ติดเชื้อในระยะนี้จึงมักไม่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ในระยะนี้
ผู้ติดเชื้อบางรายอาจมีอาการรุนแรง มีอาการสมองอักเสบหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย ผู้ป่วยที่มีอาการอยู่นานหรือรุนแรง มักดำเนินโรคเข้าสู่ระยะเอดส์เต็มขั้นภายในเวลาสั้น ๆ
ถ้ามีจำนวน CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ก็อาจเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้
2. ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยอยู่ชั่วขณะดังกล่าวมักจะแข็งแรงเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป แต่การตรวจเลือดจะพบเชื้อเอชไอวีและสารภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนี้ และสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เรียกว่าเป็นพาหะ (carrier)
ระยะนี้แม้ว่าจะไม่มีอาการ แต่เชื้อเอชไอวีจะแบ่งตัวเจริญขึ้นไปเรื่อย ๆ และทำลาย CD4 จนมีจำนวนลดลง โดยเฉลี่ยประมาณปีละ 50-75 เซลล์/ลบ.มม. จากระดับปกติ (คือ 600-1,000 เซลล์) เมื่อลดต่ำลงมาก ๆ ก็จะเกิดอาการเจ็บป่วย ทั้งนี้อัตราการลดลงของ CD4 จะเร็วช้าขึ้นกับความรุนแรงของเชื้อเอชไอวี และสภาพความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย
ระยะนี้มักเป็นอยู่นาน 5-10 ปี บางรายอาจสั้นเพียง 2-3 เดือน แต่บางรายอาจนานกว่า 10-15 ปีขึ้นไป
3. ระยะติดเชื้อที่มีอาการ เดิมเรียกว่า ระยะที่มีอาการสัมพันธ์กับเอดส์ (AIDS related complex/ARC) ผู้ป่วยจะมีอาการมากน้อยขึ้นกับจำนวน CD4 ดังนี้
3.1 อาการเล็กน้อย ระยะนี้ถ้าตรวจ CD4 จะมีจำนวนมากกว่า 500 เซลล์/ลบ.มม. ผู้ป่วยอาจมีอาการ ดังนี้
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตเล็กน้อย
- โรคเชื้อราที่เล็บ
- แผลแอฟทัส (aphthous ulcer)
- ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแคที่ไรผม ข้างจมูก ริมฝีปาก
- ฝ้าขาวข้างลิ้น (hairy leukoplakia) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสอีบีวี (Epstein-Barr virus/EBV) มีลักษณะเป็นฝ้าขาวที่ด้านข้างของลิ้น ซึ่งขูดไม่ออก
- โรคโซริอาซิสที่เคยเป็นอยู่เดิมกำเริบ
3.2 อาการปานกลาง ระยะนี้ถ้าตรวจ CD4 จะมีจำนวนระหว่าง 200-500 เซลล์/ลบ.มม. ผู้ป่วยอาจมีอาการทางผิวหนังและเยื่อบุช่องปากแบบข้อ 3.1 หรือไม่ก็ได้ อาการที่อาจพบได้มีดังนี้
- เริม ที่ริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศ ซึ่งกำเริบบ่อย และเป็นแผลเรื้อรัง
- งูสวัด ที่มีอาการกำเริบอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือขึ้นพร้อมกันมากกว่า 2 แห่ง
- โรคเชื้อราในช่องปาก หรือช่องคลอด
- ท้องเดินบ่อย หรือเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน
- ไข้เกิน 37.8 องศาเซลเซียส แบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือติดต่อกันทุกวันนานเกิน 1 เดือน
- ต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 1 แห่งในบริเวณที่ไม่ติดต่อกัน (เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ) นานเกิน 3 เดือน
- น้ำหนักลดเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดกล้ามเนื้อและข้อ
- ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
- ปอดอักเสบจากแบคทีเรีย ซึ่งเป็นซ้ำบ่อย
4. ระยะป่วยเป็นเอดส์ (เอดส์เต็มขั้น) ระยะนี้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเสื่อมเต็มที่ ถ้าตรวจ CD4 จะพบมีจำนวนต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. เป็นผลทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เช่น เชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว วัณโรค เป็นต้น ฉวยโอกาสเข้ารุมเร้า เรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic infections) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อที่รักษาค่อนข้างยาก และอาจติดเชื้อชนิดเดิมซ้ำอย่างเดียว หรือติดเชื้อชนิดใหม่ หรือติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน
ระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้
- เหงื่อออกมากตอนกลางคืน
- ไข้ หนาวสั่น หรือไข้สูงเรื้อรังติดต่อกันหลายสัปดาห์ หรือเป็นแรมเดือน
- ไอเรื้อรัง หรือหายใจหอบเหนื่อยจากวัณโรคปอด หรือปอดอักเสบ
- ท้องเดินเรื้อรังจากเชื้อราหรือโปรโตซัว
- น้ำหนักลด รูปร่างผอมแห้ง และอ่อนเปลี้ยเพลียแรง
- ปวดศีรษะรุนแรง ชัก สับสน ซึม หรือหมดสติจากการติดเชื้อในสมอง
- แขนขาชาหรืออ่อนแรง
- ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
- กลืนลำบาก หรือเจ็บเวลากลืน เนื่องจากหลอดอาหารอักเสบจากเชื้อรา
- สายตาพร่ามัวมองไม่ชัด หรือเห็นเงาหยากไย่ลอยไปมาจากจอตาอักเสบ
- ตกขาวบ่อย
- มีผื่นคันตามผิวหนัง (papulopruritic eruption)
- ซีด
- มีจุดแดงจ้ำเขียว หรือเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หรือไอทีพี
- สับสน ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ พฤติกรรมผิดแปลกไปจากเดิม เนื่องจากความผิดปกติของสมอง (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ "ภาวะแทรกซ้อน" ด้านล่าง)
- อาการของโรคมะเร็งที่เกิดแทรกซ้อน เช่น มะเร็งของผนังหลอดเลือดที่เรียกว่า Kaposi’s sarcoma (KS)* มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น
ในเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี ระยะแรกอาจมีอาการน้ำหนักตัวไม่ขึ้นตามเกณฑ์ เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นก็อาจมีอาการเดินลำบาก หรือพัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติ และเมื่อเป็นเอดส์เต็มขั้น นอกจากมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแบบเดียวกับผู้ใหญ่แล้ว ยังอาจพบว่าหากเป็นโรคที่พบทั่วไปในเด็ก (เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ปอดอักเสบ ทอนซิลอักเสบ) ก็มักจะมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ


ฝ้าขาวข้างลิ้น (hairy leukoplakia)
ลักษณะเป็นฝ้าขาวที่ด้านข้างของลิ้น ซึ่งขูดไม่ออก

ผื่นตุ่มที่ผิวหนังจะไม่มีอาการเจ็บปวดหรือคันแต่อย่างใด ส่วนมากจะขึ้นมากกว่า 1 รอยโรคซึ่งอยู่แยกกัน และมีรอยโรคใหม่ทยอยขึ้นไปเรื่อย ๆ ทุกสัปดาห์ บางครั้งก็อาจแผ่รวมกันเป็นผื่นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหลายเซนติเมตร
ส่วนผื่นในช่องปาก บางครั้งอาจกลายเป็นแผล มีเลือดออก และอาจทำให้พูดและกินอาหารได้ลำบาก อาจทำให้ฟันหลุด หรืออุดกั้นทางเดินหายใจ
ถ้าเป็นที่บริเวณต่อมน้ำเหลือง อาจทำให้ขาบวมจากการอุดกั้นของทางเดินน้ำเหลือง
นอกจากนี้อาจขึ้นที่เยื่อบุทางเดินอาหาร (อาจทำให้ท้องเดิน ลำไส้อุดกั้น ถ่ายเป็นเลือด) เยื่อบุทางเดินหายใจ (อาจทำให้ไอเป็นเลือด หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก)
มักพบในผู้ป่วยเอดส์ที่มีจำนวน CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ การติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งอาจมีความรุนแรง และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ บางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของภาวะแทรกซ้อนมากกว่าอาการของโรคเอดส์เอง โรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบบ่อย ได้แก่
- วัณโรคปอด และวัณโรคนอกปอด (เช่น ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจ วัณโรคชนิดแพร่กระจาย) ซึ่งมักเป็นรุนแรงและอาจดื้อต่อยารักษาวัณโรคหลายชนิด
- ปอดอักเสบจากเชื้อรานิวโมซิสติสจิโรเวซิ (Pneumocystis jiroveci) เรียกว่า "ปอดอักเสบจากนิวโมซิสติส (pneumocystis pneumonia/PCP)"
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อราคริปโตค็อกคัส (cryptococcal meningitis) มักพบในผู้ป่วยเอดส์ที่มีจำนวน CD4 ต่ำกว่า 50 เซลล์/ลบ.มม.
- หลอดอาหารอักเสบจากเชื้อราแคนดิดา (esophageal candidiasis) ทำให้มีอาการกลืนลำบาก เจ็บเวลากลืน เจ็บตรงบริเวณหลังกระดูกลิ้นปี่ และมักมีโรคเชื้อราในช่องปากร่วมด้วย นอกจากนี้ยังอาจพบหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบจากเชื้อแคนดิดา
- ปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ที่พบในคนปกติทั่วไป แต่มักจะเป็นมากกว่า 1 ครั้งใน 1 ปี
- โรคติดเชื้อฉวยโอกาสอื่น ๆ เช่น จอตาอักเสบจากเชื้อไวรัสไซโตเมกะโล (cytomegalovirus/CMV retinitis ทำให้สายตามัว อาจรุนแรงถึงตาบอดได้ มักพบในผู้ป่วยที่มี CD4 ต่ำกว่า 50 เซลล์/ลบ.มม.) ท้องเดินรุนแรงจากเชื้อซัลโมเนลลา (salmonellosis) ตับอักเสบจากไวรัส การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งอาจทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูก การติดเชื้อไวรัสโพลีโอมา (polyomavirus) ที่สมอง ทำให้เกิดความผิดปกติของสมองที่เรียกว่า "Progressive multifocal leukoencephalopathy" (มีอาการพูดลำบาก ตาบอดข้างหนึ่ง แขนขาชาและอ่อนแรงซีกหนึ่ง ความจำเสื่อม) การติดเชื้อรุนแรงชนิดแพร่กระจายทั่วร่างกายจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium avium complex (MAC) เชื้อโปรโตซัว-Toxoplasma gondii และเชื้อรา-Histoplasma capsulatum เป็นต้น
นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น
- มะเร็ง ที่พบบ่อยได้แก่ มะเร็งของผนังหลอดเลือดที่มีชื่อว่า Kaposi’s sarcoma มะเร็งต่อมน้ำเหลืองกลุ่มไม่ใช่ฮอดคินส์ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก (ในผู้ป่วยที่เป็นชายรักร่วมเพศ)
- ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทและสมอง ที่พบบ่อยก็คือ ภาวะ AIDS dementia complex หรือ ADC (มีชื่อเรียกอื่น เช่น HIV dementia, HIV encephalopathy, HIV associated dementia) ซึ่งไม่ได้เกิดจากโรคติดเชื้อแทรกซ้อนของสมอง แต่เป็นผลการเปลี่ยนแปลงของเซลล์สมองจากเชื้อเอชไอวีโดยตรง ทำให้มีอาการผิดปกติทางสมองและจิตประสาท เช่น ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย สับสน ขาดสมาธิ การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ (เช่น พูดลำบาก เคลื่อนไหวเชื่องช้า เดินเซ สั่น แขนขาเป็นอัมพาต กลั้นปัสสาวะไม่ได้) พฤติกรรมผิดแปลกไปจากเดิม (เช่น ไร้อารมณ์ ซึม กระสับกระส่าย ฟุ้งพล่าน ไม่ยอมพูด) มักพบในผู้ป่วยเอดส์ระยะท้าย ๆ ปัจจุบันพบภาวะนี้ได้น้อยลงเนื่องจากมีการใช้ยาต้านไวรัสรักษาผู้ป่วยเอดส์
นอกจากนี้ ยังอาจมีโรคไขสันหลังอักเสบ (ขาชาและอ่อนแรง กลั้นปัสสาวะไม่ได้) ปลายประสาทอักเสบ (มีอาการปวดแสบปวดร้อนและชาที่ขา)
- อาการน้ำหนักลดมากจนมีลักษณะผอมแห้ง (wasting syndrome) มักมีอาการไข้เรื้อรัง ท้องเดิน และอ่อนเปลี้ยเพลียแรงร่วมด้วย
- ภาวะโลหิตจาง
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากไอทีพี
- ปวดข้อ ข้ออักเสบ
- ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ถุงน้ำดีอักเสบ อุ้งเชิงกรานอักเสบ (pelvic Inflammatory disease) ช่องคลอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- โรคไตเนโฟรติก ภาวะไตวายเรื้อรัง
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ในระยะที่มีอาการป่วยเป็นเอดส์แล้ว จะตรวจพบอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น ไข้ ซูบผอม ต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่ง (บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ) ซีด จุดแดง จ้ำเขียว เป็นต้น
ในช่องปากอาจพบอาการลิ้นหรือช่องปากเป็นฝ้าขาวจากเชื้อราแคนดิดา รอยฝ้าขาวข้างลิ้น (hairy leukoplakia) แผลเริมเรื้อรัง แผลแอฟทัส ปากเปื่อย ก้อนเนื้องอก (มะเร็ง) เป็นต้น
บริเวณผิวหนัง อาจพบวงผื่นของโรคเชื้อรา (กลาก เกลื้อน โรคเชื้อราแคนดิดา) ลุกลามเป็นบริเวณกว้างและเรื้อรัง เริม งูสวัด แผลเรื้อรัง พุพอง ก้อนเนื้องอก หูดข้าวสุก ผื่นหรือตุ่มสีน้ำตาล สีแดง หรือสีม่วง (Kaposi’s sarcoma) ตุ่มหนองหรือตุ่มคล้ายหูดข้าวสุกกระจายทั่วไปจากเชื้อราเพนิซิลเลียม มาร์เนฟไฟ (Penicillium marneffei) ผิวหนังแห้ง คัน เป็นเกล็ดขาว เป็นตุ่มคัน เป็นต้น
ในรายที่เป็นปอดอักเสบ จะมีอาการหายใจหอบ ใช้เครื่องฟังตรวจปอดมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation)
ในรายที่เป็นโรคติดเชื้อของสมอง จะมีอาการซึม เพ้อ ชัก หมดสติ ถ้าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะตรวจพบอาการคอแข็ง
นอกจากนี้ อาจตรวจพบอาการแขนขาชาหรืออ่อนแรงจากไขสันหลังอักเสบ หรือปลายประสาทอักเสบ ข้ออักเสบบวมแดงร้อน บวมจากโรคไต ดีซ่านจากตับอักเสบ เป็นต้น
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี
แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้
1. ในรายที่มีความเสี่ยง เช่น หญิงบริการ ผู้ที่ชอบเที่ยวหรือมีเพศสัมพันธ์เสรี ผู้ที่ฉีดยาเสพติด แม่บ้านที่สามีมีพฤติกรรมเสี่ยง ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (เช่น หนองใน ซิฟิลิส) ผู้หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น แพทย์จะให้คำปรึกษาในการตรวจเลือดพิสูจน์บนพื้นฐานของความสมัครใจ และต้องรักษาความลับในกรณีตรวจพบเลือดบวก
การตรวจเลือดเพื่อบ่งบอกการติดเชื้อเอชไอวี สามารถกระทำโดยวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้
- การตรวจหาสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเชื้อเอชไอวี โดยวิธีอีไลซ่า (ELISA) จะตรวจพบสารภูมิต้านทานหลังติดเชื้อ 3-12 สัปดาห์ (ส่วนใหญ่ประมาณ 8 สัปดาห์ บางรายอาจนานถึง 6 เดือน)* วิธีนี้เป็นการตรวจกรองขั้นต้น ถ้าพบเลือดบวก ต้องทำการตรวจยืนยันด้วยวิธีอีไลซ่าที่ผลิตโดยอีกบริษัทหนึ่งที่ไม่ซ้ำกับวิธีตรวจครั้งแรก หรือทำการตรวจด้วยวิธี particle agglutination test (PA) ถ้าให้ผลบวกก็สามารถวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี แต่ถ้าให้ผลลบก็ต้องตรวจยืนยันโดยวิธีเวสเทิร์นบลอต (Western blot) อีกครั้ง ซึ่งให้ผลบวก 100% หลังติดเชื้อ 2 สัปดาห์
- การตรวจหาสารก่อภูมิต้านทานหรือแอนติเจน (ส่วนประกอบของตัวเชื้อเอชไอวี) โดยวิธี PCR จะตรวจพบแอนติเจนหลังติดเชื้อ 2-6 สัปดาห์
ถ้าตรวจเลือดพบว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี (เลือดบวก) แน่ชัด โดยไม่มีอาการก็จัดว่าเป็นผู้ติดเชื้อโดยไม่มีอาการหรือพาหะ ควรให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ "ข้อแนะนำ" ด้านล่าง)
2. ในรายที่มีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นเอดส์ แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโดยการตรวจเลือดและทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น ทำการทดสอบทูเบอร์คูลิน (tuberculin test) ตรวจเสมหะและเอกซเรย์ในรายที่สงสัยจะเป็นวัณโรคปอด ตรวจเสมหะและเอกซเรย์ปอดในรายที่สงสัยเป็นปอดอักเสบ เจาะหลังในรายที่สงสัยจะเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่องกล้องตรวจดูทางเดินอาหารในรายที่สงสัยจะมีการติดเชื้อราแคนดิดา ตรวจชิ้นเนื้อในรายที่สงสัยเป็นมะเร็ง เป็นต้น
การตรวจเลือด นอกจากตรวจยืนยันการติดเชื้อเอชไอวีแล้ว ยังมีการตรวจนับ CD4 ทุก 3-6 เดือน และการตรวจวัดปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือด (viral load หรือ HIV-RNA) เป็นระยะเพื่อใช้ในการประเมินความรุนแรงของโรค การตัดสินใจเริ่มให้ยารักษา การติดตามการดำเนินของโรค และการปรับวิธีการรักษา
การรักษา ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ มีหลักการรักษาคร่าว ๆ ดังนี้
(1) ให้ยาต้านไวรัส (anti-retrovirus/ARV) มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี สามารถลดจำนวนของเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ชะลอการเกิดโรคเอดส์และลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีและอายุยืนยาวขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ช่วยให้หายขาดจากโรค
แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
- เมื่อมีอาการแสดงของโรคทั้งในระยะแรกเริ่มและระยะหลัง การให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยที่เป็นระยะแรกเริ่ม (primary HIV infection) สามารถชะลอการดำเนินโรคเข้าสู่ระยะที่รุนแรงได้
- เมื่อยังไม่มีอาการแสดง แต่ตรวจเลือดพบว่ามีค่า CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.
- เมื่อยังไม่มีอาการแสดง แต่มีค่า CD4 200-350 เซลล์/ลบ.มม. อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสเป็นราย ๆ ไป เช่น ในรายที่ปริมาณเชื้อไวรัสสูง มีอัตราการลดลงของ CD4 อย่างรวดเร็ว ความพร้อมของผู้ป่วย เป็นต้น
การให้ยาต้านไวรัส ควรอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติทราบถึงความจำเป็นที่ต้องกินยาให้ตรงเวลาและต่อเนื่องทุกวัน และร่วมกันหามาตรการในการปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาการดื้อยาหากกินยาไม่ต่อเนื่อง
โดยทั่วไป แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสความแรงสูง (HAART) ด้วยยาต้านไวรัส 3 ชนิดร่วมกัน เช่น GPO-vir S30**, GPO-vir S40*** เป็นต้น ก่อนให้ยาจะตรวจจำนวน CD4 และปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือด (viral load) 2 ครั้ง เพื่อใช้สำหรับเปรียบเทียบ หลังการรักษา 4-8 สัปดาห์ทำการเจาะเลือดซ้ำ ถ้าได้ผลดีก็จะเจาะเลือดทุก 2-4 เดือน แต่ถ้ามีการลดลงของ CD4 ก็จะเจาะถี่ขึ้น
ถ้าพบว่าเชื้อดื้อยา**** ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนสูตรยาใหม่
ในการใช้ยาควรติดตามดูผลข้างเคียง ซึ่งอาจมีอันตรายต่อผู้ป่วย หรือทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมกินอย่างต่อเนื่องได้
(2) ให้การรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ในที่นี้ขอยกตัวอย่างโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบบ่อย เช่น
- วัณโรค ถ้าตรวจพบว่ามีอาการเจ็บป่วยของวัณโรคก็ให้ยารักษาวัณโรค แต่ควรหลีกเลี่ยงสูตรยาวัณโรคที่มีไรแฟมพิซิน เพราะยานี้ต้านฤทธิ์ยาต้านไวรัส
- ปอดอักเสบ จากเชื้อรานิวโมซิสติสจิโรเวซิ (Pneumocystis pneumonia/PCP) เมื่อมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น โคไตรม็อกซาโซล กินหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือให้เพนทาไมดีน (pentamidine) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือให้โคไตรม็อกซาโซล กินร่วมกับแดปโซน (dapsone) โดยให้ยาขนานใดขนานหนึ่งนาน 21 วัน
ผู้ป่วยที่เคยเป็นปอดอักเสบ PCP มาก่อน มีประวัติโรคเชื้อราในช่องปาก หรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาส หรือมี CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ควรให้ยาป้องกัน โดยให้โคไตรม็อกซาโซล วันละ 1-2 เม็ด หรือ 2 เม็ด 3 วัน/สัปดาห์ หรือแดปโซน 100 มก. ทุกวัน
โคไตรม็อกซาโซลยังสามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อท็อกโซพลาสมา (toxoplasma)
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ จากเชื้อราคริปโตค็อกคัส (cryptococcal meningitis) ให้ยาฆ่าเชื้อราแอมโฟเทอริซินบี (amphotericin B) หยดเข้าหลอดเลือดดำช้า ๆ นาน 14 วัน แล้วเปลี่ยนเป็นฟลูโคนาโซล (fluconazole) หรือไอทราโคนาโซล เป็นเวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ หรือจนกระทั่งผลการเพาะเชื้อราในน้ำไขสันหลังให้ผลลบอย่างน้อย 2 ครั้ง ในระยะห่างกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เมื่อรักษาขั้นต้นจนหายแล้ว ควรให้กินฟลูโคนาโซล (fluconazole) 200 มก. ไปตลอดชีวิต เพื่อป้องกันการกำเริบซ้ำ
(3) ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ควรฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อปอดบวม หรือนิวโมค็อกคัส (pneumococcal vaccine) ทุก 5 ปี และฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (ถ้ายังไม่เคยฉีดมาก่อน)
(4) การเสริมสภาพจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งมักจะมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ รู้สึกไม่มั่นคง ด้วยการให้การปรึกษาแนะแนว ให้กำลังใจ ให้การสังคมสงเคราะห์ตามความจำเป็น รวมทั้งสนับสนุนให้เข้าร่วมกลุ่มมิตรภาพบำบัด หรือกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน (self-help group)
**GPO-vir S30 ประกอบด้วย nevirapine 200 มก. Iamivudine (3TC) 150 มก. และ stavudine (d4T) 30 มก.
***GPO-vir S40 ประกอบด้วย nevirapine 200 มก. Iamivudine (3TC) 150 มก. และ stavudine (d4T) 40 มก.
****การดื้อยา หรือการรักษาไม่ได้ผล มีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- หลังรักษา 4-8 สัปดาห์แล้วปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือดไม่ลด
- หลังรักษา 4-6 เดือนแล้วยังตรวจพบเชื้อเอชไอวีในเลือด (ยกเว้นก่อนรักษามีปริมาณเชื้อสูง และลดน้อยลงหลังการรักษา ก็ไม่ต้องเปลี่ยนยา)
- ตรวจพบเชื้อครั้งใหม่ หลังจากที่เคยตรวจไม่พบแล้ว
- ปริมาณเชื้อ (HIV-RNA) เพิ่มขึ้น 3 เท่า โดยไม่มีการติดเชื้อหรือฉีดวัคซีน
- ปริมาณ CD4 ลดลงอย่างต่อเนื่อง 2 ครั้ง ติดต่อกัน
- อาการของผู้ป่วยเลวลงกว่าเดิม
หากสงสัย เช่น มีอาการไข้ หรือท้องเดินนานเกิน 1-2 สัปดาห์, น้ำหนักลดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ, มีฝ้าขาวข้างลิ้น, มีต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่ง, มีผื่นขึ้นตามตัวเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น หรือมีความวิตกกังวลว่าจะมีการติดเชื้อเอชไอวีเนื่องจากมีพฤติกรรมเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือเป็นโรคเอดส์ ควรดูแลรักษาตนเอง ดังนี้
1. สำหรับผู้ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ กลุ่มนี้ยังมีสุขภาพแข็งแรงเช่นคนทั่วไป และสามารถดำเนินชีวิตไปตามปกติ บางรายอาจใช้เวลา 5-10 ปีกว่าจะป่วยเป็นเอดส์ บางรายก็ยังคงแข็งแรงดีแม้ติดเชื้อเกิน 10-15 ปีขึ้นไป ผู้ติดเชื้อโดยไม่มีอาการควรปฏิบัติดังนี้
- ไปพบแพทย์และตรวจเลือดเป็นระยะ ๆ ตามที่แพทย์แนะนำ และกินยาต้านไวรัสเมื่อมีค่า CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. การกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องมักจะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนาน ส่วนใหญ่มักจะนานกว่า 10 ปีขึ้นไป หากสงสัยมีอาการข้างเคียงจากยา ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัด เพื่อปรับเปลี่ยนยา พยายามอย่าให้ขาดยา
- ทำงาน เรียนหนังสือ คบค้าสมาคมกับผู้อื่น และปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ไม่ต้องกังวลว่าจะแพร่เชื้อให้คนอื่นโดยการสัมผัส หรืออยู่ใกล้ชิดกัน หรือหายใจรดผู้อื่น
- หากมีความกังวลเป็นทุกข์ใจ ควรเล่าความในใจให้ญาติสนิทมิตรสหายฟัง หรือขอคำปรึกษาแนะนำจากแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา หรืออาสาสมัครในองค์กรพัฒนาเอกชน
- เรียนรู้ธรรมชาติของโรค การรักษา การดูแลตนเอง จนมีความเข้าใจโรคนี้เป็นอย่างดี ก็จะไม่มีความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง และมีกำลังใจเข้มแข็ง ซึ่งเป็นอาวุธอันทรงพลังในการบำรุงรักษาสุขภาพให้แข็งแรงต่อไป ผู้ที่เสียกำลังใจอาจเสียสุขภาพทางกาย หรือถูกโรครุมเร้าได้ง่าย
- ส่งเสริมสุขภาพตัวเองด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย (ไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริมราคาแพง) งดแอลกอฮอล์ บุหรี่ สิ่งเสพติด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- เสริมสร้างสุขภาพจิตด้วยการฟังเพลง ร้องเพลง เล่นกีฬา อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ฝึกสมาธิ เจริญสติ สวดมนต์หรือภาวนาตามลัทธิศาสนาที่นับถือ หมั่นทำความดีและช่วยเหลือผู้อื่น สร้างกุศลกรรม (เช่น ช่วยรณรงค์ในการป้องกันโรคเอดส์ บำเพ็ญประโยชน์ ทำงานอาสาสมัคร เป็นต้น) ถ้ามีโอกาสควรเข้าร่วมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนในหมู่ผู้ติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดย
- งดการบริจาคเลือด หรืออวัยวะต่าง ๆ เช่น ดวงตา ไต เป็นต้น
- เมื่อร่างกายเปรอะเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ให้รีบทำความสะอาด และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที แล้วนำไปแยกซักให้สะอาดและตากให้แห้ง ควรระวังอย่าให้ผู้อื่นสัมผัสถูกเลือดหรือน้ำเหลืองของตัวเอง
- ไม่ใช้ของมีคม (เช่น ใบมีดโกน) ร่วมกับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ โดยการคุมกำเนิด เพราะเด็กอาจมีโอกาสรับเชื้อจากมารดาได้
- มารดาที่มีการติดเชื้อ ไม่ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมตัวเอง
2. สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นเอดส์ ควรปฏิบัติดังนี้
- ปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ โดยปรับให้เหมาะกับสภาพของร่างกาย เช่น ทำงานและออกกำลังกายแต่พอเหมาะ
- กินยาและรับการรักษาพยาบาลตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรกินยาต้านไวรัสให้ตรงเวลาทุกวัน อย่าได้ขาด ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีเช่นคนปกติทั่วไป
- เมื่อมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อน ควรป้องกันมิให้เชื้อโรคต่าง ๆ แพร่ให้ผู้อื่น เช่น
- ถ้วย ชาม จาน แก้วน้ำที่ใช้แล้ว ควรล้างให้สะอาดด้วยน้ำยาล้างจาน หรือลวกด้วยน้ำร้อน แล้วทิ้งไว้ให้แห้งก่อนนำไปใช้ใหม่
- ควรระมัดระวังมิให้น้ำมูก น้ำลาย น้ำเหลืองจากแผล ปัสสาวะ และสิ่งขับถ่ายต่าง ๆ ไปเปรอะเปื้อนถูกผู้อื่น
- การบ้วนน้ำลายหรือเสมหะ รวมทั้งการทิ้งกระดาษทิชชูที่ใช้แล้ว ควรมีภาชนะใส่ให้เป็นที่เป็นทาง และสามารถนำไปทิ้งหรือทำความสะอาดได้สะดวก
- สามารถใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่นได้ แต่ควรระมัดระวังอย่าให้สิ่งขับถ่าย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะ อาเจียน เป็นต้น เปรอะเปื้อนพื้นโถส้วม และอ่างล้างมือ ควรล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอก หรือน้ำยาล้างห้องน้ำที่มีส่วนผสมของคลอรอกซ์ (Chlorox) เป็นประจำ และล้างมือหลังจากการขับถ่ายทุกครั้ง
3. สำหรับญาติหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย ควรปฏิบัติ ดังนี้
- ศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์อย่างถ่องแท้
- ให้กำลังใจ ดูแลผู้ป่วยด้วยความรักและความอบอุ่น เช่น การพูดคุย สัมผัสโอบกอด เป็นต้น และคอยกระตุ้นเตือนให้ผู้ป่วยกินตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาต้านไวรัสให้ตรงเวลาทุกวัน อย่าได้ขาด
- หากผู้ป่วยมีบาดแผล หรือเปรอะเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลืองที่ร่างกายหรือเสื้อผ้าของผู้ป่วย ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกโดยตรง ถ้าจะสัมผัสควรสวมถุงมือยาง ถ้าไม่มีอาจใช้ถุงพลาสติกที่ไม่มีรูรั่ว 2-3 ชั้นแทนก็ได้
- เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอนของผู้ป่วยที่ไม่เปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ไม่ต้องแยกซักต่างหาก แต่ถ้าเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ควรใช้ถุงมือยางจับต้อง และนำไปแช่ในน้ำผสมผงฟอกขาวประมาณ 30 นาทีเสียก่อน แล้วจึงนำไปซักด้วยผงซักฟอกตามปกติ
- ทุกคนในบ้านสามารถใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมร่วมกับผู้ป่วยได้ แต่ควรทำความสะอาดโดยสวมถุงมือ และใช้น้ำยาล้างห้องน้ำ (ที่มีส่วนผสมของคลอรอกซ์) หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ
- เครื่องครัว ถ้วย จาน ชาม ช้อน ส้อม ไม่จำเป็นต้องแยกใช้ต่างหาก และในการกินอาหารร่วมสำรับกัน ควรใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เพื่อสุขอนามัยที่ดี
สำหรับประชาชนทั่วไป
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่มิใช่คู่ครอง ควรยึดมั่นต่อการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครอง (รักเดียวใจเดียว)
- ถ้ายังนิยมมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่น โดยเฉพาะหญิงบริการ หรือบุคคลที่มีเพศสัมพันธ์เสรี หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ก็ควรจะใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์จนมึนเมา เพราะอาจชักนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย (ประมาท ไม่คิดป้องกันตัวเอง)
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกเลือดของผู้อื่น เช่น ขณะช่วยเหลือผู้ที่มีบาดแผลเลือดออก ควรใส่ถุงมือยาง หรือถุงพลาสติก 2-3 ชั้น ป้องกันอย่าสัมผัสถูกเลือดโดยตรง
- หลีกเลี่ยงการใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคม (เช่น ใบมีดโกน) ร่วมกับผู้อื่น ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนใช้ควรทำลายเชื้อด้วยการแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% โพวิโดนไอโอดีน 2.5% ทิงเจอร์ไอโอดีน, ไลซอล 0.5-3% โซเดียมไฮโพคลอไรด์ 0.1-0.5% (หรือน้ำยาคลอรอกซ์ 1 ส่วนผสมน้ำ 9 ส่วนก็ได้) เป็นต้น นาน 10-20 นาที
- ก่อนแต่งงาน ควรปรึกษาแพทย์ในการตรวจเช็กโรคเอดส์ ถ้าพบว่าคนใดคนหนึ่งมีเลือดบวก ควรพิจารณาหาทางป้องกันมิให้ติดให้อีกคนหนึ่ง
- คู่สมรสที่มีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ ควรคุมกำเนิด และป้องกันการแพร่เชื้อโดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
- หญิงตั้งครรภ์ ที่คิดว่าตัวเองหรือคู่สมรสมีพฤติกรรมเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจเลือดตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ใหม่ ๆ ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส เพื่อลดการติดเชื้อของทารกในครรภ์ (จากการวิจัยพบว่าสามารถลดการติดเชื้อได้ถึงประมาณ 2 ใน 3)
- มาตรการในระยะยาว คือ การรณรงค์ให้เกิดค่านิยมใหม่และสร้างครอบครัวที่อบอุ่น เพื่อป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การเที่ยวหญิงบริการ การติดยาเสพติด เป็นต้น
สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี จากการปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ป่วย ควรประยุกต์ใช้มาตรการป้องกัน (universal precautions) อย่างเคร่งครัด เช่น การสวมถุงมือ การใช้ผ้าปิดจมูกหรือหน้ากาก การใส่เสื้อคลุม หรือการใช้อุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ เมื่อต้องปฏิบัติงานที่มีโอกาสสัมผัสถูกเลือด น้ำเหลือง สิ่งคัดหลั่ง หรือสิ่งขับถ่ายของผู้ป่วยทุกคน (ไม่ว่าจะสงสัยว่าเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ก็ตาม)
ในกรณีที่ถูกเข็มที่ใช้กับผู้ป่วยแล้วตำ ซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่พบได้บ่อย (ในสหรัฐอเมริกาพบว่าผู้ที่ถูกเข็มที่ใช้กับผู้ที่ติดเชื้อตำ มีโอกาสติดเชื้อประมาณร้อยละ 0.47) ควรรีบตรวจเลือดโดยเร็ว แล้วตรวจซ้ำในระยะ 3 เดือนและ 6 เดือนต่อมา
ถ้าผู้ป่วยมีประวัติการติดเชื้อเอชไอวีชัดเจน หรือตรวจเลือดผู้ป่วยพบว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี (เลือดบวก) ควรให้ผู้ที่ถูกเข็มตำกินยาป้องกันโดยเร็วที่สุด (ภายใน 24 ชั่วโมงหลังถูกเข็มตำ) โดยการใช้ยาต้านไวรัส 3 ตัวร่วมกัน (เช่น AZT + 3TC + indinavir) นาน 4 สัปดาห์
การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีของทารกในครรภ์
เมื่อตรวจพบว่าหญิงตั้งครรภ์มีการติดเชื้อเอชไอวี แพทย์จะดำเนินการป้องกันมิให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อ ดังนี้
1. ให้ยาต้านไวรัสเอซีที (AZT) แก่หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเมื่ออายุครรภ์ 34 สัปดาห์ โดยให้กินขนาดครั้งละ 300 มก. วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ก่อนเจ็บท้องคลอด
ในระยะเจ็บท้องคลอดให้กินครั้งละ 300 มก. ทุก 3 ชั่วโมง จนกระทั่งคลอด
2. หลังคลอด ให้ทารกกินเอซีทีชนิดน้ำทันทีหลังคลอด ขนาด 2 มก./กก. ทุก 6 ชั่วโมง นาน 1 สัปดาห์ (ถ้ามารดาได้ยาเอซีทีตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป) หรือ 6 สัปดาห์ (ถ้ามารดาได้ยาเอซีทีไม่ครบ 4 สัปดาห์)
1. สมัยก่อนที่จะมีการใช้ยาต้านไวรัส (antiretrovirus/ARV) ในการรักษาโรคนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการรุนแรง เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาส และเสียชีวิตในเวลาไม่นาน (ประมาณ 2-3 ปีหลังการวินิจฉัย) แต่ในปัจจุบันมีการใช้ยาต้านไวรัสร่วมกันตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป ดังที่เรียกว่า การใช้ยาต้านไวรัสความแรงสูง (highly active antiretroviral therapy/HAART) สามารถลดอัตราตายลงอย่างมาก และลดการดำเนินโรคจนเป็นเอดส์เต็มขั้นในผู้ติดเชื้อลงได้อย่างมีประสิทธิผล โดยยานี้ช่วยลดจำนวนเชื้อเอชไอวีลง และทำให้ CD4 lymphocyte (ซึ่งบ่งบอกถึงระดับภูมิคุ้มกันของร่างกาย) เพิ่มมากขึ้นจนลดการติดเชื้อฉวยโอกาส ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง
ในปัจจุบันจึงถือว่าโรคเอดส์เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่สามารถให้ยาควบคุมจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอายุยืนยาวได้
2. วัคซีนป้องกันโรคเอดส์ ในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นศึกษาทดลอง ดังนั้นการป้องกันโรคนี้จึงอยู่ที่การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเป็นสำคัญ
3. การบริจาคเลือดที่คลังเลือดไม่มีโอกาสจะติดเชื้อเอชไอวี เพราะเจ้าหน้าที่จะใช้อุปกรณ์ชุดใหม่ทุกครั้ง จึงไม่มีโอกาสจะปนเปื้อนเลือดของผู้อื่น
4. การใช้สมุนไพรในการรักษาโรคเอดส์ ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าได้ผลในการทำให้หายได้จริง นอกจากช่วยบรรเทาอาการให้สุขสบาย ช่วยเสริมสร้างกำลังใจ และช่วยให้สุขภาพทั่วไปดีขึ้นชั่วขณะ หากจะใช้สมุนไพรรักษา ควรปรึกษาแพทย์หรือทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและมีความรู้จักมักคุ้น
5. ผู้ที่มีอาการไข้ เจ็บคอ ผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโตคล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่มีอาการเป็นหวัด น้ำมูกไหล หากมีพฤติกรรมเสี่ยงควรตรวจเลือดพิสูจน์ อาจเป็นการติดเชื้อเอชไอวีระยะแรกเริ่มก็ได้ หากพบว่าเป็นจริง การได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่แรก รวมทั้งการให้ยาต้านไวรัสมีส่วนช่วยชะลอไม่ให้โรคดำเนินสู่ระยะรุนแรงมากขึ้นได้
มะเร็งปอด พบมากเป็นอันดับที่ 2 ของมะเร็งในผู้ชาย และอันดับที่ 4 ของมะเร็งในผู้หญิง พบมากในช่วงอายุ 50-75 ปี มะเร็งปอดมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เยื่อบุ (squamous cell carcinoma) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดและเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ต่อมเมือก (adenocarcinoma) ซึ่งพบในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และชนิด small cell carcinoma ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ พบได้น้อยกว่าชนิดอื่น แต่มีความร้ายแรงสามารถแพร่กระจายเร็ว
ร้อยละ 80-90 เกิดจากการสูบบุหรี่ ยิ่งสูบมากและนานก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากขึ้น ร้อยละ 5 เกิดจากการรับควันบุหรี่จากผู้อื่น
อาจเกิดจากการสัมผัสสารใยหิน (แอสเบสตอส) จากการทำงาน เช่น การก่อสร้างอาคาร การทำงานที่เกี่ยวกับผ้าเบรก คลัตช์ ฉนวนกันความร้อน อุตสาหกรรมสิ่งทอ เหมืองแร่ เป็นต้น ซึ่งใช้เวลาสัมผัสนาน 15-35 ปีกว่าจะเป็นมะเร็งปอด ถ้าสูบบุหรี่ด้วยก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการสัมผัสเรดอน (radon ซึ่งเป็นก๊าซกัมมันตรังสีที่เกิดจากการสลายตัวของแร่ยูเรเนียมในหินและดิน กระจายอยู่ในอากาศและน้ำใต้ดิน อาจพบตามเหมืองใต้ดิน อาคารที่ใช้วัสดุก่อสร้างที่ปนเปื้อนก๊าซนี้) มลพิษทางอากาศ (เช่น ควันพิษจากรถยนต์) โรงงานถลุงเหล็กนิกเกิล โครเมียม แคดเมียม โรงงานน้ำมัน ดินน้ำมัน เขม่าจากโรงงาน การดื่มน้ำที่มีสารหนูเจือปน การกินผักและผลไม้น้อย
บางครั้งพบมะเร็งปอดในผู้ป่วยที่มีแผลเป็นในปอดจากโรคปอด เช่น วัณโรคปอด ถุงลมปอดโป่งพอง ภาวะเยื่อพังผืด (fibrosis) ในปอด เป็นต้น
บางรายอาจเป็นมะเร็งปอดโดยไม่มีประวัติการสูบบุหรี่หรือการสัมผัสสารก่อมะเร็งมาก่อนก็ได้
ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นมะเร็งปอดมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าปกติ
ระยะแรกเริ่มจะไม่มีอาการ ต่อมาจะมีอาการไอเรื้อรัง อาจไอมีเลือดปนเสมหะ หรือไอออกเป็นเลือดสดจำนวนมาก (หากมะเร็งลามถูกหลอดเลือด) หายใจมีเสียงดังวี้ด (หากหลอดลมถูกอุดกั้นจากก้อนมะเร็ง) หรือเจ็บหน้าอกเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน (หากลามไปที่เยื่อหุ้มปอด หรือกระดูกซี่โครง) อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด
ต่อมาผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หายใจหอบเหนื่อย (จากภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด) และอาจมีปอดอักเสบแทรกซ้อน

มะเร็งปอดที่เป็นรุนแรงอาจทำให้มีอาการเจ็บปวดมาก หายใจหอบเหนื่อย ไอออกเป็นเลือดรุนแรง
หากมะเร็งลามไปยังอวัยวะข้างเคียง ก็อาจมีอาการเสียงแหบ กลืนลำบาก ปวดแขน แขนชาและอ่อนแรง หนังตาตกและรูม่านตาหดเล็กข้างหนึ่ง มีอาการบวมที่ใบหน้า คอ และหน้าอกส่วนบน หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ในระยะท้าย มะเร็งมักจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือแอ่งไหปลาร้า และอวัยวะต่าง ๆ เช่น สมอง (มีอาการปวดศีรษะ สับสน ชัก) ตับ (ตับโต ตาเหลืองตัวเหลือง ท้องมาน) ไขสันหลัง (ขาชาและอ่อนแรง) กระดูก (ปวดกระดูก) เป็นต้น
บางครั้งผู้ป่วยอาจมาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะเหล่านี้มากกว่าอาการของมะเร็งปอดโดยตรง (ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด)
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการเอกซเรย์ปอด การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจหาเซลล์มะเร็งในเสมหะ การใช้กล้องส่องตรวจหลอดลม (bronchoscopy) การใช้เข็มเจาะเนื้อปอดนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ (needle biopsy)
หากพบว่าเป็นมะเร็งก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-MRI, การตรวจเพทสแกน- PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด
แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด รังสีบำบัด เคมีบำบัด อิมมูนบำบัด และ/หรือการใช้ยาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy drugs) ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดและระยะของมะเร็งที่พบ
เนื่องจากมะเร็งปอดมักจะลุกลามเร็วและวินิจฉัยได้ในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายออกนอกปอดแล้ว มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีต่ำกว่าร้อยละ 10 (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดที่เรียกว่า small cell carcinoma ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 25 ของมะเร็งปอดทั้งหมด มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 2) การรักษาจึงเป็นเพียงการประทังอาการซึ่งมักจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงระยะหนึ่ง
นอกจากในรายที่ตรวจพบในระยะแรก ๆ หรือเป็นชนิดที่ลุกลามช้าหรือตอบสนองต่อการรักษา ก็อาจอยู่ได้นานหลายปี (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 50-90)
หากสงสัย เช่น ไอหรือเจ็บหน้าอกเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอด ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
- ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
- ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
- ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
- ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
- ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
- ขาดยาหรือยาหาย
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลเต็มที่ แต่อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดด้วยการปฏิบัติ ดังนี้
- ไม่สูบบุหรี่
- เลิกบุหรี่สำหรับผู้ที่เคยสูบ หากสามารถเลิกได้ก็จะลดความเสี่ยงลงได้มาก แม้จะสูบมานานก็ตาม
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่ สารใยหิน มลพิษทางอากาศ และรังสีเรดอน (radon)
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
- กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ
1. มะเร็งปอดแม้จะพบบ่อยในผู้ที่สูบบุหรี่ แต่ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ ดังนั้นทุกคนไม่ว่าจะมีประวัติสูบบุหรี่หรือไม่ก็ตาม หากมีอาการที่น่าสงสัย เช่น ไอหรือเจ็บหน้าอกเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
2. ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจหามะเร็งปอดระยะแรกที่ได้ผลดี ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่รอให้มีอาการแสดงชัดแล้วค่อยไปพบแพทย์ให้ตรวจรักษา ซึ่งมักจะเป็นระยะที่มะเร็งมีการลุกลามแล้ว และรักษาได้ผลไม่สู้ดี ดังนั้นควรหาทางป้องกันด้วยการไม่สูบบุหรี่หรือเลิกบุหรี่ และหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
3. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
เมลิออยโดซิส เป็นโรคติดเชื้อรุนแรงที่พบได้ทั้งในคนและสัตว์ พบว่าประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคนี้มากที่สุดในโลก และคาดการณ์ว่ามีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นปีละ 2,000-3,000 ราย พบได้ทุกภาคของประเทศ แต่พบมากที่สุดทางภาคอีสาน
โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 40-60 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 1.4 เท่า
ผู้ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อและเป็นโรคนี้ ได้แก่ เกษตรกร และผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการสัมผัสดินและน้ำ (เช่น ทหารที่ฝึกซ้อมในภาคสนาม หรือในการทำสงคราม)
ผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักมีโรคประจำตัวร่วมด้วย โดยเฉพาะเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง รวมทั้งผู้ที่มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือใช้สตีรอยด์ติดต่อกันนาน ๆ
โรคนี้พบได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน (เดือนมิถุนายนถึงกันยายน)
โรคนี้อาจแสดงอาการได้หลายลักษณะ ทั้งเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน และเรื้อรัง บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการก็ได้ (ซึ่งเชื้อจะหลบซ่อนอยู่ในร่างกาย ต่อมาภายหลังเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ ก็จะมีอาการเกิดขึ้นได้)
นอกจากนี้ยังอาจมีอาการคล้ายโรคติดเชื้ออื่น ๆ (รวมทั้งโรคติดเชื้อร้ายแรง เช่น สแตฟีโลค็อกคัสออเรียส) วัณโรค และมะเร็งต่าง ๆ จึงได้ชื่อว่า ยอดนักเลียนแบบ
เกิดจากการติดเชื้อเมลิออยโดซิส ซึ่งเป็นแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า เบอร์คอลเดเรียสูโดมัลเลไอ (Burkholderia pseudomallei) เชื้ออาศัยอยู่ในดินและน้ำ ส่วนใหญ่เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีบาดแผล (เช่น บาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการทำงานในท้องไร่ ท้องนา บาดแผลจากอุบัติเหตุ เช่น รถชน รถคว่ำ บาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก บาดแผลจากสงคราม เป็นต้น) โดยการสัมผัสดินโคลน หรือน้ำที่มีเชื้อโดยตรง
นอกจากนี้ อาจติดต่อทางการหายใจ (เช่น การสูดหายใจเอาเชื้อเข้าปอด การสำลักน้ำเข้าปอดในผู้ป่วยที่จมน้ำ เป็นต้น) ทางการกิน (เช่น การดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ) การติดจากผู้ป่วย (คนสู่คน) โดยตรงซึ่งพบได้น้อย การติดเชื้อในห้องปฏิบัติการ และการติดเชื้อในโรงพยาบาล
เชื้อเมลิออยโดซิส เมื่อเข้าสู่ร่างกายสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อแทบทุกระบบของร่างกาย ซึ่งพบบ่อยที่สุดคือ กระแสเลือด รองลงมาคือ ปอด ผิวหนัง และเนื้อเยื่อตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อที่ช่องท้อง (ตับ ม้าม ไต ทางเดินปัสสาวะ ลำไส้ ตับอ่อน ต่อมหมวกไต เยื่อบุช่องท้อง) คอหอยและทอนซิล ต่อมน้ำลายพาโรติด ต่อมน้ำเหลือง กล้ามเนื้อ ข้อและกระดูก สมอง เป็นต้น
การติดเชื้อเมลิออยโดซิส แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ การติดเชื้อเฉพาะที่ กับการติดเชื้อในกระแสเลือด (ซึ่งยังแบ่งย่อยเป็นแบบแพร่กระจาย และแบบไม่แพร่กระจาย)
โรคนี้มีอาการแสดงได้หลายลักษณะ
1. ถ้าเป็นแบบเฉียบพลัน มักจะมีไข้สูง หนาวสั่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายโรคติดเชื้ออื่น ๆ (เช่น มาลาเรีย ไทฟอยด์ สครับไทฟัส เล็ปโตสไปโรซิส) และมักมีอาการของปอดอักเสบ หรือเป็นฝีกระจายไปทั่วปอด คล้ายการติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัสออเรียส (มีอาการไอ เจ็บหน้าอก หายใจหอบ) บางรายอาจมีการติดเชื้อของตับ (ปวดชายโครงขวา ตับโต ดีซ่าน) ม้าม (ปวดชายโครงซ้าย ม้ามโต) ไต (เป็นฝี) ผิวหนัง (ขึ้นเป็นตุ่มนูน ตุ่มหนอง เป็นฝี เป็นต้น) หรืออวัยวะอื่น ๆ ร่วมด้วย
ในรายที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบแพร่กระจาย มักมีการอักเสบของอวัยวะหลายแห่งพร้อมกัน อาการจะเป็นมากขึ้นรวดเร็วภายใน 2-3 วัน จนเกิดภาวะช็อกจากโลหิตเป็นพิษ และเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง
ในรายที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบไม่แพร่กระจาย มักจะมีอาการไข้ และอาจมีการติดเชื้อของปอดและอวัยวะอื่นร่วมด้วยเพียง 1-2 แห่ง บางรายอาจไม่พบตำแหน่งติดเชื้อชัดเจน อาการมักจะไม่รุนแรงและมีการเปลี่ยนแปลงช้า โอกาสที่เกิดภาวะช็อกค่อนข้างต่ำ และมีอัตราตายต่ำ แต่บางรายอาจกลายเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบแพร่กระจายในเวลาต่อมาก็ได้
2. ในรายที่มีการติดเชื้อเฉพาะที่ มักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป เรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี ผู้ป่วยอาจมีไข้ต่ำหรือไม่มีไข้ก็ได้ มักมีอาการน้ำหนักลด และมีอาการแสดงตามความผิดปกติของอวัยวะที่ติดเชื้อ (อาจเกิดเพียง 1 แห่ง หรือพร้อมกันหลายแห่ง) เช่น
- ปอด มีอาการไอเรื้อรัง น้ำหนักลด คล้ายวัณโรคปอด หรือมะเร็งปอด
- ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอ มีอาการต่อมน้ำเหลืองข้างคอโตเรื้อรัง (อาจมีอาการปวดและแดงร้อนหรือไม่ก็ได้) คล้ายวัณโรคต่อมน้ำเหลือง หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- ผิวหนัง มีรอยโรคได้หลายแบบ อาจเริ่มด้วยก้อนนูนขนาด 1-2 ซม. อาจมีอาการเจ็บ แต่ไม่มีอาการแดงร้อน (ทำให้ไม่คิดถึงการอักเสบ) หรืออาจมีอาการของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ การติดเชื้อของบาดแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือแผลอักเสบ หรือเป็นฝีแล้วแตกออกเป็นแผล (อาจกลายเป็นแผลเรื้อรังเป็นสัปดาห์ ๆ ถึง 10 ปี) รอยโรคที่ผิวหนังอาจเกิดขึ้นพร้อมกันหลายแห่ง และเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของผิวกาย บางรายอาจมีภาวะโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อนได้
- ตับ เป็นฝี เป็นก้อนบวมคลำได้ที่ใต้ชายโครงขวา
- ม้าม เป็นฝี เป็นก้อนบวมคลำได้ที่ใต้ชายโครงซ้าย
- คอหอยและทอนซิล มีอาการไข้ เจ็บคอ ทอนซิลบวมโต เป็นหนองแบบทอนซิลอักเสบ อาจมีประวัติว่าได้ยารักษาทอนซิลอักเสบมา 1-2 สัปดาห์แล้วยังไม่ดีขึ้น
- กล้ามเนื้อและกระดูก พบกล้ามเนื้ออักเสบเป็นหนอง (pyomyositis) กระดูกอักเสบเป็นหนอง (osteomyelitis) ข้ออักเสบ (ข้อบวมแดงร้อน)
- ทางเดินปัสสาวะ พบทางเดินปัสสาวะอักเสบ ฝีไต ฝีรอบไต (perirenal abscess)
- อื่น ๆ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีสมอง ก้านสมองอักเสบ (brain stem encephalitis) ฝีลำไส้ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ฝีต่อมหมวกไต ฝีตับอ่อน เป็นต้น
ในเด็ก (อายุต่ำกว่า 14 ปี) มักจะพบต่อมน้ำลายข้างหู (พาโรติด) อักเสบเป็นหนอง (suppurative parotitis) ซึ่งไม่พบในผู้ใหญ่ มักเป็นเพียงข้างเดียว โดยมีอาการไข้ ปวดบวมบริเวณหน้าหูคล้ายคางทูม ก้อนจะบวมแดงมากขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ และอาจมีตุ่มหนองขึ้นที่ผิวหนังบริเวณที่บวม หนองไหลออกจากหูข้างเดียวกัน หรือมีหนังตาอักเสบ (periorbital cellulitis) ร่วมด้วย บางรายอาจมีการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย ซึ่งอาจรุนแรงถึงตายได้
โดยทั่วไป การติดเชื้อเฉพาะที่มักไม่รุนแรง มักไม่เกิดภาวะช็อก และมีอัตราตายต่ำ แต่บางรายปล่อยไว้ไม่รักษา อาจมีการติดเชื้อเข้ากระแสเลือดแบบแพร่กระจายเกิดภาวะช็อก เป็นอันตรายได้
ที่ร้ายแรงและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก็คือ ภาวะช็อกจากโลหิตเป็นพิษ และภาวะการหายใจล้มเหลว
อาจพบภาวะแทรกซ้อนทางปอด เช่น ภาวะมีหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด ภาวะมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด
อาจพบภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาท เช่น แขนขาอ่อนแรง
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ในรายที่เป็นเฉียบพลัน มักมีไข้สูง หายใจหอบ ฟังปอดมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation) อาจมีตับโต ม้ามโต (อาจกดเจ็บหรือไม่ก็ได้) ดีซ่าน หรือมีเลือดออกใต้เยื่อบุตา (subconjunctival hemorrhage) อาจพบรอยโรคที่ผิวหนัง (ตุ่มนูน ตุ่มหนอง ฝี)
ในรายที่รุนแรงมักพบภาวะช็อก
ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจมีไข้สูง ไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้ก็ได้ มักมีน้ำหนักลด (ซูบผอม) ภาวะซีด และพบรอยโรคของอวัยวะที่เป็นโรค เช่น ปอด (มีเสียงกรอบแกรบ) ตับโต ม้ามโต ผิวหนัง (ตุ่มนูน ตุ่มหนอง ฝี แผลอักเสบ หรือแผลเรื้อรัง) ต่อมน้ำเหลืองโต ต่อมน้ำลายข้างหูโต (คางทูม) ทอนซิลบวมแดงเป็นหนอง ข้อบวมแดงร้อน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (คอแข็ง)
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจพบเชื้อโดยการย้อมหรือเพาะเชื้อจากเลือดหรือสิ่งคัดหลั่ง (เสมหะ ปัสสาวะ หนองจากผิวหนังหรือฝีของอวัยวะต่าง ๆ) อาจทำการทดสอบทางน้ำเหลือง (เช่น indirect hemagglutination test, ELISA) ทำการเอกซเรย์ปอด ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง (ดูฝีในตับ ม้าม ไต) เจาะหลัง (ในรายที่สงสัยมีการติดเชื้อของสมอง) ตรวจเลือดดูการทำงานของตับและไต (AST, ALT, BUN, creatinine) ตรวจปัสสาวะ (ดูการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ) เป็นต้น
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ในรายที่เป็นรุนแรง แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้การดูแลตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ให้สารน้ำและเกลือแร่ ออกซิเจน ใช้เครื่องช่วยหายใจ ผ่าระบายหนอง เป็นต้น
ที่สำคัญคือต้องให้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เซฟทาซิไดม์ (ceftazidime) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ อาจให้เพียงชนิดเดียว หรือให้ร่วมกับโคไตรม็อกซาโซลเข้าหลอดเลือดดำ บางกรณีอาจให้โคอะม็อกซิคลาฟ หรือยาปฏิชีวนะชนิดอื่นแทน
เมื่อดีขึ้นจะให้ยาปฏิชีวนะชนิดกิน แบบเดียวกับที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงต่อไปอีก 20 สัปดาห์
2. ในรายที่อาการไม่รุนแรงหรือเป็นเรื้อรัง จะให้ยาปฏิชีวนะชนิดกิน เช่น
- โคไตรม็อกซาโซล ร่วมกับดอกซีไซคลีน
- ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี หรือแพ้ยาข้างบน ให้โคอะม็อกซิคลาฟ
ผลการรักษา ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ถ้ามีอาการรุนแรงและเพาะเชื้อจากเลือดให้ผลบวก (ภาวะโลหิตเป็นพิษ) มีอัตราตายร้อยละ 40-75
ถ้ามีการติดเชื้อหลายแห่ง แต่เพาะเชื้อจากเลือดให้ผลลบ มีอัตราตายประมาณร้อยละ 20
ถ้ามีการติดเชื้อเฉพาะที่เพียง 1 แห่ง มีอัตราตายต่ำ ส่วนใหญ่มักจะหายเป็นปกติ
ผู้ป่วยต้องกินยานาน 20 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการกลับกำเริบใหม่ พบว่าถ้าให้ยาน้อยกว่า 8 สัปดาห์ มีอัตราการกลับกำเริบใหม่ร้อยละ 23 และผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราตายประมาณร้อยละ 27
หากสงสัย เช่น มีไข้สูงร่วมกับอาการหนาวสั่น หรือมีไข้เรื้อรังเป็นสัปดาห์ ๆ ไอเรื้อรัง น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโต แผลเรื้อรัง เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นเมลิออยโดซิส ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- กินยาปฏิชีวนะให้ครบตามระยะที่แพทย์กำหนด (อาจนานถึง 20 สัปดาห์) ถึงแม้อาการดีขึ้นแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 10 วัน
- มีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก ซึมมาก ไม่ค่อยรู้สึกตัว เพ้อคลั่ง ชัก หรือแขนขาอ่อนแรง
- หายใจหอบ หรือเจ็บหน้าอกมาก
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคนี้อย่างได้ผล
สำหรับพื้นที่ที่มีโรคนี้ชุกชุม ผู้ที่เป็นเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง และผู้ที่มีบาดแผลตามร่างกาย อาจลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเมลิออยโดซิส โดยการหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่ท่วมขังหรือพื้นดินที่ชื้นแฉะ หรือลงแช่น้ำในห้วยหนองคลองบึง ถ้าต้องเดินย่ำน้ำหรือพื้นดินที่ชื้นแฉะ (ตามตรอก ซอย คันนา ท้องนา ท้องไร่) ให้ใส่รองเท้าบู๊ตหรือรองเท้าหุ้มข้อ
อย่างไรก็ตาม ผู้เป็นกลุ่มเสี่ยง (เช่น ผู้ที่เป็นเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง ดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือใช้สตีรอยด์นาน ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีโรคนี้ชุกชุม) ให้เฝ้าระวังการเกิดโรคนี้ ถ้ามีอาการน่าสงสัยก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ให้การรักษาแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามและการเกิดภาวะแทรกซ้อน
1. โรคนี้มีอาการคล้ายโรคติดเชื้อหลายชนิด ทุกครั้งที่วินิจฉัยแยกแยะอาการของโรคติดเชื้อ (เช่น ไข้ ไอ รอยโรคที่ผิวหนัง เป็นต้น) ควรคิดถึงโรคนี้ไว้ด้วยเสมอ โดยเฉพาะในผู้ที่อยู่ทางภาคอีสานและมีโรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง ดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือใช้ยาสตีรอยด์มานาน ๆ หรือในกรณีให้การรักษาโรคติดเชื้ออื่น ๆ (เช่น คางทูม ทอนซิลอักเสบ ฝี แผล ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ข้ออักเสบ เป็นต้น) แล้วไม่ดีขึ้น ก็อาจเกิดจากโรคนี้ก็ได้
ในรายที่มีไข้และไอเรื้อรัง น้ำหนักลด ต้องแยกระหว่างวัณโรคปอดกับเมลิออยโดซิส ถ้าตรวจไม่พบเชื้อวัณโรคในเสมหะ หรือให้ยารักษาวัณโรคแล้วไม่ดีขึ้น ก็อาจเกิดจากเมลิออยโดซิสได้
2. โรคนี้บางครั้งมีอาการคล้ายมะเร็ง คือ น้ำหนักลดรวดเร็ว และมีก้อนบวม (เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้ก้อนตับหรือม้ามที่ค่อย ๆ โตขึ้น) นานเป็นแรมเดือนแรมปี หากผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นเมลิออยโดซิส ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจยืนยัน และถ้าเป็นโรคนี้จริงก็สามารถให้การรักษาให้หายขาดได้
3. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ จำเป็นต้องรักษาอย่างจริงจังและกินยาต่อเนื่องนาน 20 สัปดาห์ หากกินไม่สม่ำเสมอหรือกินไม่ครบตามกำหนด ก็อาจมีอาการกำเริบใหม่ได้ (มักเกิดภายใน 21 สัปดาห์ หลังหยุดยา บางรายอาจนานถึง 5 ปีกว่า) ผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบใหม่อาจเกิดอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้