1. ระบุอาการเบื้องต้น
  2. ตอบคำถาม
  3. ผลตรวจอาการ
  1. 1
  2. 2
  3. 3

อยู่ๆ มีอาการล้มฟุบ แน่นิ่ง หมดสติ หรือไม่รู้สึกตัวอย่างกะทันหัน ชั่วประเดี๋ยวเดียว (มักเป็นอยู่ราว 20 วินาที ถึง 1-2 นาที) แล้วกลับฟื้นคืนสติได้เอง ก่อนหมดสติอาจมีอาการศีรษะเบาหวิว วิงเวียน ตัวโคลงเคลง ตาพร่า ตาลาย คลื่นไส้ เหงื่อออก หน้าซีด เตือนล่วงหน้าราว 2-3 นาที
สาเหตุที่พบบ่อย : เป็นลมธรรมดา ความดันตกในท่ายืน น้ำตาลในเลือดต่ำ โรคลมชัก เป็นลมจากโรคหัวใจ

  • 1.

    แน่นิ่ง หมดความรู้สึกตัว?

  • 2.

    หมดความรู้สึกตัวชั่วประเดี๋ยวเดียว (1-2 นาที) แล้วฟื้นได้เอง?

  • 3.

    ขณะไม่รู้สึกตัวมีอาการชักเกร็งหรือแขนขากระตุกร่วมด้วย?

  • 4.

    ศีรษะได้รับบาดเจ็บ?

  • 5.

    เห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด กลืนลำบาก เดินเซ หรือ แขนขาชาหรืออ่อนแรง?

  • 6.

    เจ็บหน้าอกรุนแรง?

ควรไปพบแพทย์ด่วน เพื่อตรวจอาการเพิ่มเติม เนื่องจากอาการของคุณข้างต้นอาจเป็นสัญญาณของ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย, ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด ดูข้อมูลที่ ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด, ภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ หรือโรคอื่น ๆ
การปฐมพยาบาล ขณะที่ผู้ป่วยมีอาการเป็นลม ไม่รู้สึกตัว ควรให้การช่วยเหลือ ดังนี้
  • จับผู้ป่วยนอนหงาย ศีรษะต่ำ (ไม่ต้องหนุนหมอน) เท้ายกสูง และจับศีรษะผู้ป่วยหันไปด้านข้าง
  • ปลดเสื้อผ้า เข็มขัด รวมทั้งสิ่งรัดคอ (เช่น เน็กไท ผ้าพันคอ กระดุมคอ) ให้หลวม
  • ห้ามคนมุงดู
  • ถ้าตัวเย็นหรืออากาศเย็น ห่มผ้าให้อบอุ่น
  • ขณะยังไม่ฟื้น ห้ามให้น้ำหรืออาหารทางปาก
  • เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัว อย่าให้ลุกขึ้นทันที ควรให้นอนพักต่ออีก 15-20 นาที หรือจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ
  • เมื่อผู้ป่วยฟื้นคืนสติแล้วและเริ่มกลืนได้ อาจให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ (ถ้ารู้สึกกระหายน้ำ) หรือน้ำหวาน (ถ้ารู้สึกหิว)
หมายเหตุ :
1. แม้ว่าผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติดีแล้ว ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าหากมีอาการผิดปกติ (เช่น ปวดศีรษะมาก เวียนศีรษะมาก อาเจียน เจ็บหน้าอก เห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก ถ่ายอุจจาระดำ มีเลือดออก) หรือสงสัยมีสาเหตุจากโรคหัวใจหรือโรคสมอง ควรไปพบแพทย์โดยเร็วหรือทันที
2. ถ้าผู้ป่วยหมดสตินานเกิน 2-3 นาที ให้ทำการปฐมพยาบาลแบบอาการหมดสติ แล้วนำส่งโรงพยาบาลทันที
หมายเหตุ
ผลตรวจอาการเบื้องต้นดังกล่าว เป็นเพียงอาการ ภาวะ หรือโรคที่พบได้บ่อยเท่านั้น เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ควรเข้ารับการตรวจอาการโดยตรงอีกครั้งจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ณ สถานพยาบาล ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน
หัวใจขาดเลือด/หลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจขาดเลือดชั่วขณะ กล้ามเนื้อหัวใจตาย

โรคหัวใจขาดเลือด/โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (ischemic heart disease/IHD) หรือโรคหลอดเลือดโคโรนารี (coronary artery disease/CAD) หมายถึง โรคหัวใจที่เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ดังที่เรียกว่า หลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดโคโรนารี (coronary artery) ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลงหรือชะงักไป เมื่อผู้ป่วยมีภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้น หรือมีออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อน้อยลง ก็จะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว โดยที่ยังไม่มีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจเกิดขึ้น อาการดังกล่าวเรียกว่า โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (angina pectoris)

 

แต่ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจมีการตายเกิดขึ้นบางส่วน เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตันจากลิ่มเลือด เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้เลย ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง ซึ่งมักจะมีภาวะช็อกและหัวใจวายร่วมด้วย เรียกว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction/MI)

 

โรคนี้มักจะพบได้มากขึ้นตามอายุ ส่วนมากจะมีอาการเริ่มแรกเมื่อมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มักไม่พบในผู้ชายอายุต่ำกว่า 30 ปี หรือผู้หญิงอายุต่ำกว่า 40 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

 

คนที่อยู่ดีกินดี คนที่มีอาชีพทำงานนั่งโต๊ะและคนในเมืองมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนยากจน คนที่มีอาชีพใช้แรงงาน และชาวชนบท

 

ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย

ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด
หลอดเลือดดำบริเวณขา บางครั้งอาจเกิดลิ่มเลือดขึ้นอยู่ภายในหลอดเลือด ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งในหลอดเลือดดำส่วนผิว* และส่วนลึก 
 
ที่สำคัญ คือ การมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นที่หลอดเลือดดำส่วนที่อยู่ลึกในกล้ามเนื้อ (ส่วนใหญ่เกิดที่บริเวณน่อง) เรียกว่า ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงจากลิ่มเลือดที่อาจหลุดลอยเข้าไปในปอด
 
ภาวะนี้มักพบในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เลือดแข็งตัวง่ายหรือไหลเวียนช้า ดังนั้นจึงพบบ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด กินยาเม็ดคุมกำเนิด หรือไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายอยู่นาน ๆ เป็นอันตรายได้
 
* การเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณผิว มักจะทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดร่วมด้วย เรียกว่า หลอดเลือดดำส่วนผิวอักเสบมีลิ่มเลือด (superficial thrombophlebitis) ภาวะนี้มีอันตรายน้อย และมักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นลิ่มเลือดขนาดเล็ก และไม่หลุดลอยไปที่อื่น อาการที่พบ คือ หลอดเลือดดำที่มีลิ่มเลือดจะมีลักษณะคลำได้เป็นเส้นแข็ง ออกแดง ร้อน และเจ็บ ให้การรักษาตามอาการ ได้แก่ ให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ สวมใส่ถุงเท้าชนิดยืด หรือพันด้วยผ้าพันแผลชนิดยืด ยกเท้าสูงเวลานอนหรือนั่ง
ภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่
เป็นภาวะที่ผนังชั้นในของหลอดเลือดแดงใหญ่มีรอยปริเป็นรูรั่ว ทำให้เลือดไหลออกไปเซาะให้ผนังชั้นในแยกออกจากผนังชั้นกลางเป็นแนวยาว ถ้ารอยปริของหลอดเลือดเกิดตรงจุดใกล้หัวใจ เรียกว่า "ชนิดเอ (A)" ถ้ารอยปริของหลอดเลือดเกิดตรงจุดที่อยู่ต่ำกว่าจุดแยกของหลอดเลือดแดงใต้กระดูกไหปลาร้า (subclavian artery) เรียกว่า "ชนิดบี (B)"
 
โรคนี้จัดว่ามีอันตรายร้ายแรง พบมากในกลุ่มอายุ 40-70 ปี