แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้
1. ในรายที่มีความเสี่ยง เช่น หญิงบริการ ผู้ที่ชอบเที่ยวหรือมีเพศสัมพันธ์เสรี ผู้ที่ฉีดยาเสพติด แม่บ้านที่สามีมีพฤติกรรมเสี่ยง ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (เช่น หนองใน ซิฟิลิส) ผู้หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น แพทย์จะให้คำปรึกษาในการตรวจเลือดพิสูจน์บนพื้นฐานของความสมัครใจ และต้องรักษาความลับในกรณีตรวจพบเลือดบวก
การตรวจเลือดเพื่อบ่งบอกการติดเชื้อเอชไอวี สามารถกระทำโดยวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้
- การตรวจหาสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเชื้อเอชไอวี โดยวิธีอีไลซ่า (ELISA) จะตรวจพบสารภูมิต้านทานหลังติดเชื้อ 3-12 สัปดาห์ (ส่วนใหญ่ประมาณ 8 สัปดาห์ บางรายอาจนานถึง 6 เดือน)* วิธีนี้เป็นการตรวจกรองขั้นต้น ถ้าพบเลือดบวก ต้องทำการตรวจยืนยันด้วยวิธีอีไลซ่าที่ผลิตโดยอีกบริษัทหนึ่งที่ไม่ซ้ำกับวิธีตรวจครั้งแรก หรือทำการตรวจด้วยวิธี particle agglutination test (PA) ถ้าให้ผลบวกก็สามารถวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี แต่ถ้าให้ผลลบก็ต้องตรวจยืนยันโดยวิธีเวสเทิร์นบลอต (Western blot) อีกครั้ง ซึ่งให้ผลบวก 100% หลังติดเชื้อ 2 สัปดาห์
- การตรวจหาสารก่อภูมิต้านทานหรือแอนติเจน (ส่วนประกอบของตัวเชื้อเอชไอวี) โดยวิธี PCR จะตรวจพบแอนติเจนหลังติดเชื้อ 2-6 สัปดาห์
ถ้าตรวจเลือดพบว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี (เลือดบวก) แน่ชัด โดยไม่มีอาการก็จัดว่าเป็นผู้ติดเชื้อโดยไม่มีอาการหรือพาหะ ควรให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ "ข้อแนะนำ" ด้านล่าง)
2. ในรายที่มีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นเอดส์ แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโดยการตรวจเลือดและทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น ทำการทดสอบทูเบอร์คูลิน (tuberculin test) ตรวจเสมหะและเอกซเรย์ในรายที่สงสัยจะเป็นวัณโรคปอด ตรวจเสมหะและเอกซเรย์ปอดในรายที่สงสัยเป็นปอดอักเสบ เจาะหลังในรายที่สงสัยจะเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่องกล้องตรวจดูทางเดินอาหารในรายที่สงสัยจะมีการติดเชื้อราแคนดิดา ตรวจชิ้นเนื้อในรายที่สงสัยเป็นมะเร็ง เป็นต้น
การตรวจเลือด นอกจากตรวจยืนยันการติดเชื้อเอชไอวีแล้ว ยังมีการตรวจนับ CD4 ทุก 3-6 เดือน และการตรวจวัดปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือด (viral load หรือ HIV-RNA) เป็นระยะเพื่อใช้ในการประเมินความรุนแรงของโรค การตัดสินใจเริ่มให้ยารักษา การติดตามการดำเนินของโรค และการปรับวิธีการรักษา
การรักษา ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ มีหลักการรักษาคร่าว ๆ ดังนี้
(1) ให้ยาต้านไวรัส (anti-retrovirus/ARV) มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี สามารถลดจำนวนของเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ชะลอการเกิดโรคเอดส์และลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีและอายุยืนยาวขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ช่วยให้หายขาดจากโรค
แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
- เมื่อมีอาการแสดงของโรคทั้งในระยะแรกเริ่มและระยะหลัง การให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยที่เป็นระยะแรกเริ่ม (primary HIV infection) สามารถชะลอการดำเนินโรคเข้าสู่ระยะที่รุนแรงได้
- เมื่อยังไม่มีอาการแสดง แต่ตรวจเลือดพบว่ามีค่า CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.
- เมื่อยังไม่มีอาการแสดง แต่มีค่า CD4 200-350 เซลล์/ลบ.มม. อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสเป็นราย ๆ ไป เช่น ในรายที่ปริมาณเชื้อไวรัสสูง มีอัตราการลดลงของ CD4 อย่างรวดเร็ว ความพร้อมของผู้ป่วย เป็นต้น
การให้ยาต้านไวรัส ควรอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติทราบถึงความจำเป็นที่ต้องกินยาให้ตรงเวลาและต่อเนื่องทุกวัน และร่วมกันหามาตรการในการปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาการดื้อยาหากกินยาไม่ต่อเนื่อง
โดยทั่วไป แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสความแรงสูง (HAART) ด้วยยาต้านไวรัส 3 ชนิดร่วมกัน เช่น GPO-vir S30**, GPO-vir S40*** เป็นต้น ก่อนให้ยาจะตรวจจำนวน CD4 และปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือด (viral load) 2 ครั้ง เพื่อใช้สำหรับเปรียบเทียบ หลังการรักษา 4-8 สัปดาห์ทำการเจาะเลือดซ้ำ ถ้าได้ผลดีก็จะเจาะเลือดทุก 2-4 เดือน แต่ถ้ามีการลดลงของ CD4 ก็จะเจาะถี่ขึ้น
ถ้าพบว่าเชื้อดื้อยา**** ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนสูตรยาใหม่
ในการใช้ยาควรติดตามดูผลข้างเคียง ซึ่งอาจมีอันตรายต่อผู้ป่วย หรือทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมกินอย่างต่อเนื่องได้
(2) ให้การรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ในที่นี้ขอยกตัวอย่างโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบบ่อย เช่น
- วัณโรค ถ้าตรวจพบว่ามีอาการเจ็บป่วยของวัณโรคก็ให้ยารักษาวัณโรค แต่ควรหลีกเลี่ยงสูตรยาวัณโรคที่มีไรแฟมพิซิน เพราะยานี้ต้านฤทธิ์ยาต้านไวรัส
ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่มีอาการแสดงของวัณโรค ก็ควรทำการทดสอบทูเบอร์คูลิน ถ้าพบว่ามีตุ่มขนาด ≥ 5 มม. ก็ควรให้ยาไอเอ็นเอชกินป้องกันนานอย่างน้อย 12 เดือน
- ปอดอักเสบ จากเชื้อรานิวโมซิสติสจิโรเวซิ (Pneumocystis pneumonia/PCP) เมื่อมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น โคไตรม็อกซาโซล กินหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือให้เพนทาไมดีน (pentamidine) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือให้โคไตรม็อกซาโซล กินร่วมกับแดปโซน (dapsone) โดยให้ยาขนานใดขนานหนึ่งนาน 21 วัน
ผู้ป่วยที่เคยเป็นปอดอักเสบ PCP มาก่อน มีประวัติโรคเชื้อราในช่องปาก หรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาส หรือมี CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ควรให้ยาป้องกัน โดยให้โคไตรม็อกซาโซล วันละ 1-2 เม็ด หรือ 2 เม็ด 3 วัน/สัปดาห์ หรือแดปโซน 100 มก. ทุกวัน
โคไตรม็อกซาโซลยังสามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อท็อกโซพลาสมา (toxoplasma)
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ จากเชื้อราคริปโตค็อกคัส (cryptococcal meningitis) ให้ยาฆ่าเชื้อราแอมโฟเทอริซินบี (amphotericin B) หยดเข้าหลอดเลือดดำช้า ๆ นาน 14 วัน แล้วเปลี่ยนเป็นฟลูโคนาโซล (fluconazole) หรือไอทราโคนาโซล เป็นเวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ หรือจนกระทั่งผลการเพาะเชื้อราในน้ำไขสันหลังให้ผลลบอย่างน้อย 2 ครั้ง ในระยะห่างกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เมื่อรักษาขั้นต้นจนหายแล้ว ควรให้กินฟลูโคนาโซล (fluconazole) 200 มก. ไปตลอดชีวิต เพื่อป้องกันการกำเริบซ้ำ
ยานี้ยังสามารถป้องกันโรคเชื้อราแคนดิดา (โรคเชื้อราในช่องปาก หลอดอาหาร ช่องคลอด) ซึ่งจะให้ในรายที่มีการติดเชื้อราชนิดนี้บ่อย ๆ
(3) ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ควรฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อปอดบวม หรือนิวโมค็อกคัส (pneumococcal vaccine) ทุก 5 ปี และฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (ถ้ายังไม่เคยฉีดมาก่อน)
(4) การเสริมสภาพจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งมักจะมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ รู้สึกไม่มั่นคง ด้วยการให้การปรึกษาแนะแนว ให้กำลังใจ ให้การสังคมสงเคราะห์ตามความจำเป็น รวมทั้งสนับสนุนให้เข้าร่วมกลุ่มมิตรภาพบำบัด หรือกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน (self-help group)