1. ระบุอาการเบื้องต้น
  2. ตอบคำถาม
  3. ผลตรวจอาการ
  1. 1
  2. 2
  3. 3

จุดแดง จ้ำเขียว เป็นรอยเลือดที่ออกอยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งอาจเกิดจากการบาดเจ็บ การกระทบกระแทก หรือจากโรค ทำให้มีเลือดออก ถ้ามีลักษณะเป็นจุดแดงๆ ขนาดเท่าปลายเข็ม เรียกว่า จุดแดง (Petechiae) ถ้าเป็นรอยแดงม่วงหรือเขียวคล้ำ หรือเป็นรอยฟกช้ำดำเขียว เรียกว่า จ้ำเขียว/พรายย้ำ (ขนาดต่ำกว่า 1 ซม. เรียกว่า Purpura มากกว่า 1 ซม. เรียกว่า Echymosis) เมื่อใช้มือดึงผิวหนังที่อยู่โดยรอบรอยเลือดนั้น จุดหรือจ้ำเหล่านี้ไม่จางหาย จุดแดงหรือจ้ำเขียวอาจเกิดแยกกันโดดๆ หรือเกิดร่วมกันก็ได้

สาเหตุที่พบบ่อย : 1. ถ้ามีไข้ร่วมด้วย : ไข้เลือดออก มะเร็งเม็ดเลือดขาว เอสแอลอี โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ 2. ถ้าไม่มีไข้ : รอยฟกช้ำ ไอทีพี จ้ำเขียวที่พบในผู้หญิงเวลามีประจำเดือน/ผู้สูงอายุ

  • 1.

    มีไข้?

  • 2.

    คอแข็ง (ก้มคอไม่ลง)?

    วิธีสังเกตอาการคอแข็ง: จับศีรษะผู้ป่วยให้ก้มลงข้างหน้า ผู้ป่วยจะก้มไม่ลง คอมีลักษณะแข็งทื่อ (คอปกติจะก้มให้คางชิดหน้าอกได้)

  • 3.

    มีไข้เกิน 7 วัน ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วไป ซีด หรือ มีเลือดออก (เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน ถ่ายเป็นเลือด)?

ควรไปพบแพทย์ ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจอาการเพิ่มเติม เนื่องจากอาการของคุณข้างต้นอาจเป็นสัญญาณของ มะเร็งเม็ดเลือดขาว, โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ, ไข้เลือดออก, เล็ปโตสไปโรซิส, เยื่อบุหัวใจอักเสบ, โลหิตเป็นพิษ, เอดส์, เอสแอลอี หรือโรคอื่น ๆ
ควรไปพบแพทย์ด่วน ถ้ามีเลือดออกมาก/มีอาการใจหวิวใจสั่นและลุกนั่งจะเป็นลม
หมายเหตุ
ผลตรวจอาการเบื้องต้นดังกล่าว เป็นเพียงอาการ ภาวะ หรือโรคที่พบได้บ่อยเท่านั้น เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ควรเข้ารับการตรวจอาการโดยตรงอีกครั้งจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ณ สถานพยาบาล ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน
มะเร็งเม็ดเลือดขาว
มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลิวคีเมีย ก็เรียก) หมายถึง มะเร็งที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาววัยอ่อนในไขกระดูกมีการเจริญแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ และกลายเป็นเซลล์ผิดปกติ (ไม่สามารถเจริญเป็นเม็ดเลือดขาวตัวแก่ที่ทำหน้าที่แบบเม็ดเลือดขาวปกติ และมีการแก่ตัวและเซลล์ตายช้ากว่าปกติ) สามารถแพร่กระจายแทรกซึมไปอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม กระดูก สมอง อัณฑะ ผิวหนัง รวมทั้งแทรกซึมในไขกระดูก ทำลายกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดในไขกระดูก ก่อให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จนเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
 
มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีอยู่หลายชนิด โดยหลัก ๆ แบ่งเป็น ชนิดเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากเซลล์วัยอ่อน (blast cell) มีอาการเกิดขึ้นฉับพลัน ลุกลามรวดเร็วและรุนแรง และชนิดเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เริ่มเป็นตัวแก่ ลุกลามช้า และมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป
 
หากแบ่งตามชนิดของเซลล์ต้นกำเนิดของโรค สามารถแบ่งเป็นเซลล์ที่จะเจริญเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (lymphocyte) และเซลล์ที่จะเจริญเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดอื่น รวมทั้งเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือด (myeloid cell/myelocyte)
 
มะเร็งเม็ดเลือดขาวจึงแบ่งเป็น 4 ชนิดใหญ่ ๆ  ได้แก่ acute lymphocytic (lymphoblastic) leukemia (ALL), acute myelogenous (myeloblastic) leukemia (AML), chronic lymphocytic leukemia (CLL) และ chronic myelocytic (myelogenous) leukemia (CML)
 
ทุกชนิดพบได้ในคนทุกวัย แต่อาจพบมากในเด็กหรือผู้ใหญ่แตกต่างกันดังนี้
  • ชนิด ALL พบมากในเด็กอายุ 2-5 ปี (พบได้ถึงร้อยละ 80 ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก) อาจพบในผู้ใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุมากกว่า 65 ปี
  • ชนิด AML เป็นมะเร็งเม็ดเลือดที่พบได้มากที่สุด พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
  • ชนิด CLL พบบ่อยในผู้ใหญ่ และมีความชุกของโรคมากขึ้นตามอายุ พบมากในกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี
  • ชนิด CML เป็นชนิดที่พบได้น้อย พบบ่อยในผู้ใหญ่อายุ 40-60 ปี พบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี
โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ
ไขกระดูก (bone marrow) อยู่ในโพรงกระดูกทั่วร่างกายมีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง (red blood cells) เม็ดเลือดขาว (white blood cells) และเกล็ดเลือด (platelets)
 
ในคนบางคนอาจเกิดภาวะผิดปกติของไขกระดูกเป็นเหตุให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดได้น้อยลง หรือไม่ได้เลยทั้ง 3 ชนิด เกิดภาวะโลหิตจาง (เพราะขาดเม็ดเลือดแดง) ติดเชื้อง่าย (เพราะขาดเม็ดเลือดขาว) และเลือดออกง่าย (เพราะขาดเกล็ดเลือด) เรียกว่า โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ หรือ โรคโลหิตจางอะพลาสติก
 
โรคนี้พบได้ค่อนข้างน้อย แต่เป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้ พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่พบได้บ่อยในกลุ่มวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว และผู้สูงอายุ
ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่ง ซึ่งพบได้ในทุกกลุ่มอายุ พบมากสุดในกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี และ 0-4 ปีตามลำดับ

โรคนี้พบได้ตลอดทั้งปี และทั่วทุกภาค โดยจำนวนผู้ป่วยเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตอนต้นเดือนพฤษภาคม จนมีจำนวนสูงสุดในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงกลางฤดูฝน แล้วเริ่มมีแนวโน้มลดลงตอนปลายเดือนตุลาคม โรคนี้มีแนวโน้มเกิดการระบาดปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี

เล็ปโตสไปโรซิส/ไข้ฉี่หนู
เล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เป็นโรคติดเชื้อที่พบได้เป็นครั้งคราวในแทบทุกจังหวัด พบมากในคนที่มีอาชีพที่ต้องย่ำน้ำหรือแช่น้ำ เช่น ทำนา ทำสวน จับปลา เก็บขยะ ขุดท่อ เลี้ยงสัตว์ ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ทำเหมืองแร่ แม่บ้านที่เตรียมอาหารจากเนื้อสัตว์ นักท่องเที่ยวที่นิยมเที่ยวป่า น้ำตก ทะเลสาบ ว่ายน้ำในแหล่งน้ำจืด เป็นต้น
 
พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2.5 เท่า ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 15-54 ปี
 
โรคนี้พบได้ประปรายตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีน้ำขัง หรือเกิดภาวะน้ำท่วม มีเชื้อโรคขังอยู่ในน้ำ เมื่อคนเดินลุยน้ำหรือลงแช่น้ำก็มีโอกาสได้รับเชื้อนี้ บางครั้งอาจพบมีการระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีภาวะน้ำท่วม
 
ในระยะหลังๆ นี้ พบผู้ป่วยเป็นโรคนี้กันมากทางภาคอีสาน เนื่องจากมีหนูชุกชุมตามท้องนา และมักจะเป็นชนิดรุนแรง ชาวบ้านเรียกว่า ไข้ฉี่หนู
เยื่อบุหัวใจอักเสบ
เยื่อบุหัวใจอักเสบ หมายถึง การอักเสบของเยื่อบุผนังด้านในของหัวใจ (endocardium) ถือเป็นภาวะร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษา อาจตายได้รวดเร็ว โรคนี้พบมากในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
โลหิตเป็นพิษ
โลหิตเป็นพิษ หมายถึง ภาวะที่เชื้อหรือพิษของแบคทีเรียแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดทั่วร่างกาย ถือเป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรงมาก อาจทำให้เกิดภาวะช็อกถึงตายได้
เอดส์
โรคเอดส์/กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง (acquired immunodeficiency syndrome/AIDS) เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสเอชไอวี (human immunodeficiency virus/HIV) ซึ่งอยู่ในกลุ่ม retrovirus เชื้อนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปเจริญอยู่ในเม็ดเลือดขาวที่มีชื่อว่า "CD4 lymphocyte" (นิยมเรียกย่อ ๆ ว่า CD4)* และทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ จนในที่สุดทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง เป็นผลทำให้เกิดมะเร็งบางชนิด และโรคติดเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic infection ซึ่งเป็นการติดเชื้อรุนแรงจากเชื้อโรคต่าง ๆ ทั้งที่เป็นชนิดที่ก่อโรคในคนปกติทั่วไป และชนิดที่ปกติไม่ทำอันตรายต่อคนที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง)
 
*มีชื่อเรียกอื่น ได้แก่ T4-cell, T4-helper cells, T4-lymphocyte และ CD4 cell มีหน้าที่ในการกำจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม
เอสแอลอี
เอสแอลอี เป็นชื่อเรียกทับศัพท์ของอักษรย่อในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีคำเต็มว่า systemic lupus erythematosus

โรคนี้มักจะมีความผิดปกติของอวัยวะได้หลายระบบ (เช่น ผิวหนัง ข้อกระดูก ไต ปอด หัวใจ เลือด สมอง เป็นต้น) พร้อม ๆ กัน และอาจมีความรุนแรงทำให้พิการหรือตายได้

โรคนี้พบประปรายได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบมากในช่วงอายุ 20-45 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 10 เท่า