CPR (การปั๊มหัวใจ) กรณีหมดสติ
CPR (การปั๊มหัวใจ) กรณีหมดสติ ขั้นตอนที่ถูกต้องในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น อุปกรณ์ที่ต้องใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย พร้อมเบอร์ฉุกเฉินเรียกรถพยาบาล

วิธีการทำ CPR มีดังนี้
ในกรณีที่ผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ช่วยผายปอดด้วยการเป่าปากทันที ซึ่งสามารถกระทำได้ดังนี้
1. จับผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นแข็ง ๆ เช่น พื้นห้องหรือกระดานแข็งแล้วปลดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้หลวม
2. ใช้นิ้วมือล้วงเอาเศษอาหาร เสมหะ ฟันปลอม สิ่งแปลกปลอมออกจากปากของผู้ป่วย
3. จับศีรษะผู้ป่วยหงายไปข้างหลัง โดยใช้มือข้างหนึ่งรองอยู่ใต้คอผู้ป่วย และยกคอขึ้น (หรือใช้หมอนหรือผ้าห่มหนุนไหล่ให้สูงขึ้น) แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งวางที่หน้าผากผู้ป่วย และกดลงแรง ๆ ให้คางของผู้ป่วยยกขึ้น
4. ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ของมือข้างที่วางอยู่บนหน้าผากผู้ป่วย บีบจมูกผู้ป่วยให้แน่น สูดหายใจเข้าแรง ๆ แล้วใช้ปากประกบปากของผู้ป่วย (จะใช้ผ้าบาง ๆ รองหรือไม่ก็ได้) พร้อมกับเป่าลมหายใจเข้าแรง ๆ เสร็จแล้วยกปากขึ้น สูดลมหายใจเข้าแรง ๆ แล้วเป่าปากผู้ป่วยซ้ำอีกครั้ง ในระยะแรกให้ทำการเป่าปากผู้ป่วยติด ๆ กัน 4 ครั้ง ต่อไปเป่าประมาณนาทีละ 12 ครั้ง (ทุก ๆ 5 วินาที)
สำหรับทารกและเด็กเล็ก อาจใช้ปากประกบคร่อมปากและจมูกเด็ก และเป่าลมให้แรงพอให้หน้าอกขยาย (อย่าแรงเกินไป) ประมาณนาทีละ 20 ครั้ง (ทุก ๆ 3 วินาที)
ถ้าทำการเป่าปากได้ผล จะสังเกตเห็นหน้าอกของผู้ป่วยขยายขึ้น และแฟบลงตามจังหวะ
ถ้าหน้าอกผู้ป่วยไม่ขยาย หรือสงสัยลมจะไม่เข้าปอดผู้ป่วย ให้สอดนิ้วหัวแม่มือเข้าในปากของผู้ป่วย แล้วจับขากรรไกรล่างให้แน่น พร้อมกับงัดแรง ๆ ให้ปากอ้ากว้าง แล้วทำการเป่าปากตามวิธีดังกล่าว ให้ทำการผายปอดไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เอง หรือจนกว่าจะพาผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาล
5. ถ้าผู้ป่วยมีอาการหัวใจหยุดเต้น (คลำชีพจร หรือฟังเสียงหัวใจไม่ได้) ให้ทำการนวดหัวใจทันที ประมาณ 100-120 ครั้ง/นาที การนวดหัวใจ ควรวางมือไว้ตรงกลางหน้าอก แล้วใช้แรงกดลงทั้งตัว กดลึกประมาณ 2-2.4 นิ้ว หรือ 5-6 ซม. (สำหรับผู้ใหญ่) 1.5 นิ้ว (สำหรับเด็ก) แล้วปล่อยให้สุด
ถ้ามีผู้ทำการช่วยเหลือเพียงคนเดียว สำหรับผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ให้นวดหัวใจ 30 ครั้ง แล้วเป่าปาก 2 ครั้ง สลับกันไปเรื่อย ๆ (หรือในกรณีที่เป่าปากไม่เป็น ให้ทำการนวดหัวใจเพียงอย่างเดียวก็ได้)
แต่ถ้ามีผู้ช่วย 2 คน สำหรับผู้ใหญ่ให้นวดหัวใจ 30 ครั้ง สลับกับเป่าปาก 2 ครั้ง ส่วนเด็กให้นวดหัวใจ 15 ครั้ง สลับกับเป่าปาก 2 ครั้ง (ในกรณีที่ไม่สะดวกที่จะทำการเป่าปาก ให้ทำการนวดหัวใจเพียงอย่างเดียวก็ได้)
หากมีเครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติ (automatic external defibrillator / AED) ให้ใช้เครื่องนี้กระตุ้นหัวใจทันทีที่พบว่าหัวใจหยุดเต้น แล้วค่อยทำการนวดหัวใจดังกล่าว
ในกรณีที่ผู้ป่วยยังหายใจได้เอง ให้ทำการปฐมพยาบาล ดังนี้
1. จับผู้ป่วยนอนหงาย และจับศีรษะให้หงายขึ้นมาก ๆ และใช้นิ้วล้วงเอาอาเจียน เสมหะ ฟันปลอม สิ่งแปลกปลอมออกจากปากของผู้ป่วย
2. ปลดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้หลวม
3. ห้ามให้ผู้ป่วยกินหรือดื่มอะไรทางปาก
4. ถ้าสงสัยผู้ป่วยมีกระดูกหัก ต้องระมัดระวังในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสงสัยกระดูกคอหรือกระดูกหลังหัก (ดู "ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ")
5. ถ้าแน่ใจว่าไม่มีกระดูกหัก ให้จัดท่าผู้ป่วยอยู่ในท่าพักฟื้น (recovery position) โดยจับให้ผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง และให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเล็กน้อย เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจสะดวก และป้องกันมิให้สำลักเอาเศษอาหารหรือเสมหะเข้าไปในปอด เป็นเหตุให้เกิดอันตรายได้
6. ใช้ผ้าห่มคลุมตัวผู้ป่วย เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น
7. นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ควรติดตามผู้ป่วยไปด้วย เพื่อทำการช่วยผายปอดถ้าเกิดหยุดหายใจระหว่างทาง
นอกจากข้อมูลข้างต้นโดย รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ แล้วยังมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในรูปแบบวิดีโอที่จัดทำโดย Mahidol Channel ซึ่งผู้อ่านสามารถคลิกเข้าไปดูได้ตามลิงก์ด้านล่าง ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก Mahidol Channel