
โรคลมจากความร้อน (โรคลมเหตุร้อน) เป็นภาวะการเจ็บป่วยฉุกเฉินชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายสูญเสียกลไกปรับอุณหภูมิ* ไม่สามารถกำจัดความร้อน เป็นเหตุให้มีการสะสมความร้อนภายในร่างกายสูงมากจนส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ทำหน้าที่ผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมอง หัวใจ ตับและไต ซึ่งอาจมีอันตรายถึงเสียชีวิต
โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ (มากกว่า 65 ปี) ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน พาร์กินสัน โรคผิวหนังบางชนิด เช่น scleroderma เป็นต้น) ผู้ที่กินยาบางชนิดที่ขัดขวางกลไกการกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย (เช่น ยารักษาโรคจิต ยาแก้แพ้ ยาที่ออกฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิก) ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด (โคเคน แอมเฟตามีน) คนอ้วน
1. เกิดจากการเผชิญกับอากาศร้อน เช่น การเกิดคลื่นอากาศร้อนมากกว่า 39.2 องศาเซลเซียส (102.5 องศาฟาเรนไฮต์) ติดต่อกันตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป อาจทำให้เกิดโรคลมจากความร้อนในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ร่างกายอ่อนแอจากภาวะการเจ็บป่วย ซึ่งอยู่ในห้องที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือการถ่ายเทอากาศไม่ดี (เมื่อปี พ.ศ. 2546 คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส ทำให้มีผู้ที่ตายจากโรคนี้ถึง 14,800 คน)
ในเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 6 ปี) ที่ติดอยู่ในรถยนต์ที่ปิดประตูหน้าต่างอยู่กลางแดดเปรี้ยง ก็อาจได้รับอันตรายจากความร้อนร่วมกับภาวะขาดอากาศหายใจ
2. เกิดจากการออกกำลังกาย หรือทำงานใช้แรงกายอย่างหนักท่ามกลางอากาศร้อนและชื้นหรือในห้องที่ร้อนและปิดมิดชิด มักพบในนักกีฬา นักวิ่งไกล คนงาน ทหาร ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อายุไม่มาก ร่างกายจะสร้างความร้อนมากเกินกว่าที่สามารถกำจัดออกไปได้
เหล่านี้เป็นเหตุให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดความร้อน ทำให้มีอุณหภูมิแกน (core temperature โดยการวัดทางทวารหนัก) ขึ้นสูงมากกว่า 41 องศาเซลเซียส (106 องศาฟาเรนไฮต์) ความร้อนจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ ถูกทำลายจนทำหน้าที่ผิดปกติไป และเกิดปฏิกิริยาการอักเสบของร่างกาย ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงจัด ร่วมกับอาการทางสมอง (เช่น เดินเซ สับสน พฤติกรรมแปลก ๆ ประสาทหลอน เพ้อคลั่ง ชัก หมดสติ) และมีประวัติเผชิญคลื่นความร้อน ออกกำลังหรือใช้แรงกายในที่ที่อากาศร้อน หรือติดอยู่ในรถยนต์ที่จอดอยู่กลางแดดร้อนนาน ๆ
บางรายก่อนมีอาการทางสมองนับเป็นนาที ๆ ถึงชั่วโมง ๆ อาจมีอาการอื่น ๆ นำมาก่อน เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ตาพร่ามัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดตามกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว กระสับกระส่าย เป็นต้น
มีผลกระทบต่ออวัยวะแทบทุกส่วน เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่
- หัวใจ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ เลือดออกใต้เยื่อบุหัวใจ (subendocardial hemorrhage)
- ปอด ปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ปอดอักเสบจากการสำลัก (aspiration pneumonia) ภาวะเลือดเป็นด่าง (respiration alkalosis) กลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome/ARDS)
- ไต ไตวายเฉียบพลัน
- เลือด ภาวะผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด (ทำให้มีเลือดออกง่าย) ภาวะเลือดจับเป็นลิ่มทั่วร่างกาย (DIC)
- กล้ามเนื้อ เซลล์กล้ามเนื้อถูกทำลาย (rhabdomyolysis)
- สมอง อัมพาตครึ่งซีก หมดสติ ความจำเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เดินเซ ชัก
- ตับ ดีซ่าน เซลล์ตับตาย (hepatocellular necrosis) ตับวาย
- อิเล็กโทรไลต์ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำหรือสูง ภาวะเเคลเซียมในเลือดต่ำ ภาวะโซเดียมในเลือดสูง ภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแล็กติก (lactic acidosis) ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะยูริกในเลือดสูง

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ไข้ (วัดทางทวารหนัก) มากกว่า 41 องศาเซลเซียส แต่ถ้ามีการปฐมพยาบาลด้วยการลดอุณหภูมิร่างกายมาก่อน ก็อาจตรวจไม่พบไข้หรือไข้ไม่สูงมาก
ชีพจรเต้นเร็ว หายใจหอบลึก
ความดันโลหิตอาจสูงหรือต่ำ หรือแรงชีพจร (pulse pressure) กว้าง (ความดันช่วงล่างหรือไดแอสโตลีต่ำ)
ผิวหนังออกร้อน และมักมีเหงื่อออก (อาจพบผิวหนังแห้ง ไม่มีเหงื่อออก ในระยะท้ายของโรค ซึ่งมักพบในกลุ่มที่เกิดจากคลื่นความร้อนมากกว่ากลุ่มที่ออกกำลังกายมาก)
อาจตรวจพบภาวะแทรกซ้อนของระบบอวัยวะต่าง ๆ เช่น ชัก หมดสติ เพ้อคลั่ง พฤติกรรมแปลก ๆ เดินเซ รูม่านตาโตทั้ง 2 ข้างและไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง จ้ำเขียวตามตัว ถ่ายเป็นเลือด ไอเป็นเลือด ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่ออกเลย
อาจพบกล้ามเนื้อเป็นตะคริว (เป็นก้อนเกร็งแข็ง) หรืออ่อนปวกเปียก
แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ทำการแก้ไขภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับการหายใจ (เช่น ให้ออกซิเจน ใช้เครื่องช่วยหายใจ) ให้น้ำเกลือ และหาวิธีลดอุณหภูมิร่างกาย (เช่น ถอดเสื้อผ้าออกใช้น้ำก๊อกธรรมดาพ่นตามตัว ใช้พัดลมขนาดใหญ่เป่า วางน้ำแข็งตามซอกคอ รักแร้ เเละขาหนีบ) ให้เหลือ 40 องศาเซลเซียส ควรหยุดทำเมื่ออุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียส
ทำการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เป็นต้น เพื่อประเมินอาการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ แล้วทำการแก้ไขภาวะผิดปกติตามที่ตรวจพบ
หลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไข้ (นอกจากไม่มีประโยชน์แล้ว ยังอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น แอสไพรินส่งเสริมให้เลือดออก พาราเซตามอลอาจมีพิษต่อตับ) และยาที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนี้ เช่น ยาที่ออกฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิก
ผลการรักษา ขึ้นกับความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นก่อนมาถึงโรงพยาบาล ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องได้เร็ว ก็มีโอกาสรอดชีวิตถึงร้อยละ 90
แต่ถ้าปล่อยให้มีอาการนานเกิน 2 ชั่วโมงจึงได้รับการรักษา มีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 70
บางรายเมื่อรักษาจนฟื้นตัวดีแล้ว อาจมีอุณหภูมิแกว่งขึ้นลงอยู่นานนับสัปดาห์ บางรายอาการทางสมองอาจหายไม่สนิท มีบุคลิกภาพเปลี่ยนไป ท่าทางงุ่มง่ามหรือกล้ามเนื้อทำงานประสานกันไม่ดี
บางรายเมื่อรักษาจนฟื้นตัวดีแล้ว อาจมีอุณหภูมิแกว่งขึ้นลงอยู่นานนับสัปดาห์ บางรายอาการทางสมองอาจหายไม่สนิท มีบุคลิกภาพเปลี่ยนไป ท่าทางงุ่มง่าม หรือกล้ามเนื้อทำงานประสานกันไม่ดี
หากสงสัยเป็นโรคลมจากความร้อน เช่น มีไข้สูง ร่วมกับมีอาการทางสมอง (เช่น เดินเซ สับสน พฤติกรรมแปลก ๆ ประสาทหลอน เพ้อคลั่ง ชัก หรือหมดสติ) และมีประวัติเผชิญคลื่นความร้อน ออกกำลังหรือใช้แรงกายในที่ที่อากาศร้อน หรือติดอยู่ในรถที่จอดอยู่กลางแดดร้อนนาน ๆ ควรทำการปฐมพยาบาลก่อนนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ดังนี้
- พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่ม ในรถปรับอากาศ ห้องที่มีความเย็น หรือห้องแอร์
- ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามซอกคอ รักแร้ และขาหนีบ
- ถ้าผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ให้ดื่มน้ำเย็น เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย
- ถ้าผู้ป่วยหมดสติ จับศีรษะหันให้หน้าเอียงหน้าไปทางข้างใดข้างหนึ่ง (เพื่อป้องกันการสำลัก) และให้การปฐมพยาบาลอาการหมดสติ เพิ่มเติมดังนี้
- ใช้นิ้วล้วงเอาอาเจียน เสมหะ ฟันปลอม สิ่งแปลกปลอมออกจากปากของผู้ป่วย
- ห้ามให้ผู้ป่วยกินหรือดื่มอะไรทางปาก
- ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้ทำการกู้ชีวิต (ดูหัวข้อ "CPR")
- ถ้ามีอาการชักร่วมด้วย ให้การปฐมพยาบาลอาการชัก เพิ่มเติม ดังนี้
- ป้องกันอันตราย หรือการบาดเจ็บ โดยให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในพื้นที่โล่งและปลอดภัย ไม่มีสิ่งกีดขวางหรือระเกะระกะอยู่ข้างกาย
- ถ้ามีเศษอาหาร เสมหะ หรือฟันปลอม ให้นำออกจากปาก ถ้าผู้ป่วยใส่แว่นตาควรถอดออก
- อย่าใช้วัตถุ (เช่น ไม้ ด้ามช้อน ปากกา ดินสอ) สอดใส่ปากผู้ป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้กัดลิ้น เพราะนอกจากไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรแล้ว ยังอาจทำให้ปากและฟันได้รับบาดเจ็บได้
- อย่าผูกหรือมัดตัวผู้ป่วย อาจทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บได้
- อย่าให้ผู้ป่วยกินอะไรระหว่างชัก หรือหลังชักใหม่ ๆ อาจทำให้ผู้ป่วยสำลักได้
- นำส่งโรงพยาบาลโดยรถปรับอากาศ หรือเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
ในการป้องกันอันตรายจากความร้อน (อากาศร้อน) ควรปฏิบัติดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการออกกำลังหรือใช้แรงกายในที่ที่อากาศร้อนและชื้น
2. ในการออกกำลังกาย ก่อนออกกำลังควรดื่มน้ำ 400-500 มล. (ประมาณ 2 แก้ว) และระหว่างออกกำลังควรดื่มน้ำ 200-300 มล. (ประมาณ 1 แก้ว) เป็นระยะ ๆ ควรสวมเสื้อผ้าบาง ๆ หลวม ๆ และสีอ่อน
3. ในช่วงที่มีคลื่นความร้อน (อากาศร้อน) ควรอยู่ในห้องปรับอากาศหรือมีพัดลมเป่าให้อากาศถ่ายเทสะดวก ควรอาบน้ำบ่อย ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ สวมเสื้อผ้าบาง ๆ หลวม ๆ สีอ่อน และเท่าที่จำเป็น
4. สำหรับเด็กเล็ก ไม่ควรปล่อยเด็กไว้ในรถยนต์ตามลำพังแม้เพียงเดี๋ยวเดียว เมื่อไม่ใช้รถควรปิดกุญแจประตูรถทุกครั้ง และเก็บกุญแจรถไว้ในที่มิดชิดหรือที่เด็กเอื้อมไม่ถึง
ความร้อน (อากาศร้อน) อาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้หลายลักษณะ ได้แก่
(1) ถ้ามีผลทำให้ร่างกายขาดน้ำเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้เกิดอาการเป็นลมชั่วขณะ เรียกว่า เป็นลมจากความร้อน (heat syncope) มักพบในผู้สูงอายุ ควรให้นอนพักในที่ร่ม และทดแทนสารน้ำโดยการดื่มหรือให้ทางหลอดเลือดดำ (ดู "อาการเป็นลม" เพิ่มเติม)
(2) ถ้ามีการออกกำลังหรือใช้แรงกายในที่อากาศร้อนนาน ๆ เหงื่อออกมาก สูญเสียน้ำและเกลือแร่ แล้วดื่มน้ำตามไปมาก ๆ ทำให้เกลือแร่ในเลือดเจือจางลง ก็อาจทำให้กล้ามเนื้อ (โดยเฉพาะที่น่อง ต้นขา และไหล่) เป็นตะคริว เรียกว่า ตะคริวจากความร้อน (heat cramps)
การรักษา นอกจากพาหลบเข้าที่ร่มแล้ว ควรทดแทนน้ำกับเกลือแร่ด้วยการดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่หรือกินของเค็ม ถ้าเป็นมากอาจต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ (ดู "อาการตะคริว" เพิ่มเติม)
(3) ในรายที่ได้รับอันตรายจากความร้อนรุนแรงปานกลางถึงมาก ก็อาจทำให้เกิดภาวะหมดแรงจากความร้อน (heat exhaustion) มีสาเหตุจากการสูญเสียกลไกการปรับอุณหภูมิร่างกายขนาดเล็กน้อยถึงปานกลาง (ทำให้อุณหภูมิร่างกายขึ้นสูง) และ/หรือการออกกำลังมากเกิน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ กล้ามเนื้อเป็นตะคริวหรือปวดเมื่อย กระสับกระส่าย โดยไม่มีอาการผิดปกติของสมองหรือภาวะแทรกซ้อนเช่นเดียวกับโรคลมจากความร้อน การตรวจร่างกายอาจพบไข้ (วัดทางทวารหนัก) ต่ำกว่า 41 องศาเซลเซียส (บางครั้งอาจไม่มีไข้) ชีพจรเต้นเร็ว อาจตรวจพบภาวะความดันเลือดตกในท่ายืน ขนลุก ผิวหนังอาจมีเหงื่อออกหรือไม่ก็ได้ ควรรีบให้การปฐมพยาบาลแบบเดียวกับโรคลมจากความร้อน และนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
การรักษา ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ถ้ามีภาวะความดันตกในท่ายืน ควรให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ อาการควรจะดีขึ้นภายใน 2-3 ชั่วโมง ถ้าไม่ดีขึ้นควรค้นหาสาเหตุอื่น ๆ ภาวะนี้ถ้าหากไม่ได้รับการช่วยเหลือ อาจรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นโรคลมจากความร้อน อันตรายได้
(4) ในรายที่ได้รับอันตรายจากความร้อนรุนแรงมากก็อาจทำให้เกิดโรคลมจากความร้อน ซึ่งมีอันตรายถึงตายได้ หากพบผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคลมจากความร้อน ควรรีบให้การปฐมพยาบาลและนำส่งโรงพยาบาลทันที การรักษาได้ทันท่วงทีจะช่วยให้ชีวิตรอดปลอดภัยได้