
แมงกะพรุนจะมีหนวดพิษ (tentacle) หลายอัน แต่ละอันประกอบด้วยเข็มพิษ (nematocyst) เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เมื่อหนวดพิษสัมผัสถูกผิวหนังของคนเราก็จะปล่อยพิษออกมา ทำให้มีอาการต่าง ๆ
ส่วนใหญ่หลังสัมผัสถูกพิษแมงกะพรุน จะมีอาการปวดแสบปวดร้อนและผิวหนังมีผื่นแดงหรือเป็นสีแดงเข้ม บางครั้งเหมือนรอยไหม้
บางรายอาจแพ้พิษมาก ทำให้ผิวหนังบวมนูนขึ้นเป็นทางยาว แล้วเกิดเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มพองและแตกเป็นแผลเรื้อรังหายยาก ถึงแม้ตกสะเก็ดแล้วก็อาจกำเริบเป็นแผลใหม่ได้อีก เมื่อหายแล้วมักจะกลายเป็นแผลปูดหรือคีลอยด์ ซึ่งบางครั้งอาจมีลักษณะน่าเกลียด
ถ้าสัมผัสถูกตา อาจทำให้มีอาการปวดตา ตาแดง หนังตาบวม และอาจทำให้สายตาพิการได้
โดยทั่วไป แมงกะพรุนไฟจะมีพิษร้ายแรงกว่าแมงกะพรุนธรรมดา
สำหรับแมงกะพรุนไฟ นอกจากจะทำให้เป็นแผลเรื้อรังแล้ว ยังอาจทำให้มีอาการชาตามมือเท้า กล้ามเนื้อหดเกร็ง ชัก จุกเสียด อาเจียน ท้องเดิน ไอ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและมีไข้ อาการอาจเกิดหลังสัมผัสถูก 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง กว่าจะทุเลากินเวลา 24-48 ชั่วโมง ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง อาจเกิดอาการหายใจหอบ ช็อก และอาจเสียชีวิตได้ใน 10-15 นาที ภาวะแพ้พิษรุนแรงดังกล่าวเป็นสิ่งที่พบได้น้อยมาก ซึ่งเกิดจากแมงกะพรุนชนิดที่มีชื่อว่า แมงกะพรุนกล่อง (box jellyfish)

รอยแผลจากแมงกะพรุนไฟ

รอยแผลจากแมงกะพรุนกล่อง
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. รีบล้างแผลด้วยน้ำเกลือนอร์มัล ห้ามใช้น้ำจืด (น้ำก๊อก น้ำเปล่า) ล้าง
2. ถ้าพบว่ามีหนวดพิษค้างอยู่บนแผล ให้ใช้ปากคีบ (forcep) หยิบออก หรือใช้แป้งโรย แล้วใช้สันมีดหรือขอบบัตรเครดิตเขี่ยออก แล้วใช้น้ำแข็งประคบบริเวณแผล
3. ถ้าปวดให้ยาแก้ปวด ถ้าปวดมากให้ใช้ยาชา (เช่น ลิโดเคน) ชนิดเจลทา หรือชนิดสเปรย์พ่น หากไม่ได้ผลอาจต้องฉีดมอร์ฟีนระงับปวด
4. ถ้าเป็นผื่นแดงคัน ให้กินยาแก้แพ้ แล้วทาด้วยครีมสตีรอยด์
5. ถ้ามีอาการแพ้พิษมาก เกิดเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มพอง ให้กินสตีรอยด์จะทำให้แผลหายเร็วและไม่กลับกำเริบเรื้อรัง ยานี้ควรกินภายใน 2-3 วันแรก ถ้ากินหลังถูกแมงกะพรุน 2-3 วันไปแล้วจะไม่ค่อยได้ผล
6. ถ้ามีอาการกล้ามเนื้อเกร็งหรือเป็นตะคริว ให้ฉีดแคลเซียมกลูโคเนตขนาด 10% เข้าหลอดเลือดดำช้า ๆ หรือฉีดไดอะซีแพมเข้าหลอดเลือดดำ
7. ถ้ามีอาการหอบหรือช็อก ฉีดอะดรีนาลิน และฉีดเดกซาเมทาโซนเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำ
ทำการปฐมพยาบาลและรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
ถ้ามีอาการหอบหรือช็อก ทำการปฐมพยาบาลและรีบไปพบแพทย์ทันที
การปฐมพยาบาล
เมื่อสัมผัสถูกแมงกะพรุน ให้รีบขึ้นบนฝั่ง แล้วทำการปฐมพยาบาลก่อนไปพบแพทย์ ดังนี้
1. รีบล้างแผลหรือบริเวณผิวหนังที่สัมผัสถูกแมงกะพรุนด้วยน้ำทะเล หรือน้ำเกลือนอร์มัลทันที
2. ห้ามฟอกหรือถูบริเวณดังกล่าว และห้ามใช้น้ำจืด (น้ำเปล่า น้ำก๊อก) ล้างแผล เนื่องเพราะอาจกระตุ้นให้เข็มพิษแตก ปล่อยพิษออกมามากขึ้น
3. ถ้ามีน้ำส้มสายชู (ชนิด 5-10%) ให้นำมาราดบนแผล มีส่วนช่วยลดปริมาณพิษลง และลดความรุนแรงของอาการเกิดพิษได้ หรือถ้ามีผักบุ้งทะเลที่ขึ้นตามชายหาด ให้นำมาขยำหรือโขลกให้มีน้ำ ใช้ทาบริเวณแผล
4. ถ้าพบว่ามีหนวดพิษค้างอยู่บนแผล ให้ใช้แป้งโรยแล้วใช้สันมีดหรือขอบบัตรเครดิตเขี่ยออก ห้ามใช้มือสัมผัสถูกหนวดพิษโดยตรง
5. ใช้น้ำแข็งประคบแผล
6. ทาแผลด้วยครีมสตีรอยด์ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
7. ถ้าปวดแผลกินพาราเซตามอล
8. เคลื่อนไหวแขนหรือขาส่วนที่ถูกพิษให้น้อยที่สุด
9. รีบไปพบเเพทย์
- เวลาลงเล่นน้ำในทะเล ควรระมัดระวังอันตรายจากแมงกะพรุน ถ้าเห็นแมงกะพรุนอยู่ใกล้ ควรเลิกเล่นน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะฝนตก ลมแรง อาจพัดพาแมงกะพรุนเข้าชายฝั่ง จึงควรระวังตัวให้มาก
- อย่าใช้มือเปล่าจับแมงกะพรุนที่ถูกน้ำพัดขึ้นมาบนชายหาด อาจแพ้พิษได้เช่นกัน
เวลาลงเล่นน้ำในทะเล ควรเตรียมน้ำเกลือนอร์มัล น้ำส้มสายชู และครีมสตีรอยด์ไว้ที่ชายหาดให้พร้อมที่จะให้การปฐมพยาบาลทันทีเมื่อถูกแมงกะพรุนไฟ เมื่อให้การปฐมพยาบาลแล้ว ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว อาจต้องกินสตีรอยด์เพื่อลดการอักเสบของผิวหนังและป้องกันมิให้กลายเป็นแผลเรื้อรัง