
ม่านตาอักเสบ เป็นโรคที่พบได้น้อย พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในวัยหนุ่มสาว และอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้
อาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อราหรือพยาธิ หรืออาจเกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmune)
สาเหตุอาจมีได้หลายอย่าง เช่น
อาจเกิดจากการลุกลามของโรคติดเชื้อภายนอกลูกตา เช่น กระจกตาอักเสบ แผลกระจกตา เยื่อตาขาวอักเสบ
เนื่องจากการกระทบกระเทือน เช่น ถูกแรงกระแทกที่บริเวณกระบอกตา
อาจพบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น วัณโรค ซิฟิลิส โรคเรื้อน สมองอักเสบ ไซนัสอักเสบ โรคปวดข้อรูมาตอยด์ ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง
บางครั้งอาจไม่พบสาเหตุชัดเจนก็ได้
มีอาการปวดตา เคืองตา น้ำตาไหล ตามัว ซึ่งอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยจนถึงปานกลาง อาการอาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หรือค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ โดยมากมักจะเป็นเพียงข้างเดียว
บางรายอาจรู้สึกปวดมากเมื่ออยู่ที่แจ้ง แต่จะดีขึ้นเมื่ออยู่ในที่ร่ม บางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยจนไม่รู้สึกว่ามีอาการเลยก็ได้
อาการอาจเป็นอยู่เพียงไม่กี่วันถึงหลายสัปดาห์ เมื่อหายแล้วอาจกำเริบได้ใหม่ ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจเป็นอยู่นานเป็นแรมเดือนแรมปี

ในรายที่เป็นรุนแรง ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้มีเม็ดเลือดขาวที่เกิดจากการอักเสบไปอุดกั้นทางระบายของน้ำเลี้ยงลูกตา ทำให้กลายเป็นต้อหินได้หรือไม่อาจมีการยึดติดกันของม่านตากับแก้วตา ทำให้เกิดต้อหินได้เช่นกัน
ในรายที่เป็นนาน ๆ อาจทำให้เป็นต้อกระจก
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการใช้เครื่องมือตรวจตา จะพบว่าบริเวณตาขาวที่อยู่ใกล้กับตาดำมีลักษณะแดงเรื่อ ๆ โดยไม่มีขี้ตา รูม่านตาอาจมีขนาดเล็กกว่าข้างปกติ หรือขอบไม่เรียบ กระจกตาอาจมีลักษณะขุ่นเล็กน้อย
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุ (เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ เป็นต้น) และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ และให้ยาหยอดตาที่ทำให้รูม่านตาขยาย เช่น ยาหยอดตาอะโทรพีน (atropine eye drop) ชนิด 1% เพื่อให้ม่านตาได้พักบรรเทาอาการปวด และป้องกันไม่ให้ม่านตาที่อักเสบไปยึดติดกับแก้วตาที่อยู่ข้างหลัง ยานี้อาจทำให้ตาพร่ามัวได้ ซึ่งจะหายหลังหยุดยาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ยานี้ห้ามใช้ในคนที่เป็นต้อหิน หรือมีความดันลูกตาสูง (จึงควรใช้กับผู้ป่วยเฉพาะตัวตามแพทย์สั่งเท่านั้น อย่านำไปใช้กับคนอื่น ๆ)
นอกจากนี้อาจให้สตีรอยด์ชนิดเป็นยาหยอดตา เพื่อลดการอักเสบ ถ้าเป็นมากอาจให้ชนิดกิน
ในรายที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จะให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
อาจต้องใช้เวลารักษาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนจนกว่าอาการจะทุเลาดีแล้ว
โรคนี้ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อย มักจะค่อย ๆ หายไปได้เอง ถึงแม้ไม่ได้รับการรักษา แต่ถ้ามีการอักเสบรุนแรง การรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้
บางรายอาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง แต่ในที่สุดมักจะหายขาดได้เป็นส่วนใหญ่
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดตา เคืองตา น้ำตาไหล ตามัว ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นม่านตาอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- ถ้าปวดตามาก กินพาราเซตามอลบรรเทาปวด
- สวมแว่นตาดำ หากมีอาการปวดตามากขึ้นเวลาถูกแสงสว่าง
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
- มีอาการปวดตารุนแรง ตาแดงหรือตามัวมากขึ้น
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน หลังใช้ยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง คันตา ตาบวม ตาแดง ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ ควรดูแลรักษาตามที่แพทย์แนะนำ และติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบและลดภาวะแทรกซ้อน (เช่น ต้อหิน ต้อกระจก)
อาการปวดตาและตาแดง อาจมีสาเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น เยื่อตาขาวอักเสบ หรืออาจมีสาเหตุที่รุนแรง เช่น ต้อหิน แผลกระจกตา ม่านตาอักเสบ เราอาจวินิจฉัยแยกกลุ่มโรคที่รุนแรงออกจากกลุ่มที่ไม่รุนแรงได้ โดยการตรวจพบว่า กลุ่มโรคที่รุนแรงจะมีอาการปวดตามาก ตามัว รูม่านตา 2 ข้างไม่เท่ากัน หรือกระจกตาขุ่นหรือเป็นฝ้าขาว หากพบอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ด่วน (ตรวจอาการ "ปวดตา/เจ็บตา" และ "ตามัว/ตาฝ้าฟาง/มองเห็นเงาหรือภาพผิดปกติ" เพิ่มเติม)