
-มุก - หน้า862.png)
เกิดจากการได้รับบาดเจ็บ การใส่สายสวน หรือเครื่องส่องตรวจ การผ่าตัด หรือการฉายรังสี ที่บริเวณท่อปัสสาวะ จากต่อมลูกหมากโต มะเร็งต่อมลูกหมากหรือท่อปัสสาวะ หรือจากการติดเชื้อ (เช่น หนองใน หนองในเทียม ทำให้ท่อปัสสาวะมีการอักเสบ และกลายเป็นแผลเป็นจนทำให้ท่อปัสสาวะตีบ)
บางรายอาจมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด
ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายลำบาก ออกทีละน้อย ออกเป็นหยด หรือถ่ายไม่ออกเลย ในผู้ชายอาจมีอาการเจ็บปวดเวลาหลั่งน้ำอสุจิขณะร่วมเพศ หรืออวัยวะเพศอาจบิดเบี้ยวเวลาแข็งตัว
อาจทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบและไตวายได้
แพทย์จะวินิจฉัยขั้นต้นจากอาการ และทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการใช้เครื่องมือส่องตรวจพิสูจน์ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ หรืออัลตราซาวนด์
แพทย์จะทำการรักษาโดยใช้เครื่องมือถ่างให้ท่อปัสสาวะขยาย ในช่วงแรกอาจรักษาอยู่นานหลายสัปดาห์ หลังจากนี้อาจต้องคอยถ่างท่อปัสสาวะเป็นระยะ ๆ ถ้าไม่ได้ผลอาจต้องผ่าตัดแก้ไข
หากสงสัย เช่น มีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ออกทีละน้อย ออกเป็นหยด หรือถ่ายไม่ออกเลย ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นท่อปัสสาวะตีบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
- มีอาการขัดเบา ปวดท้องน้อย ไข้ หนาวสั่น ปวดสีข้าง ปัสสาวะขุ่น หรือปัสสาวะไม่ออก
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
เนื่องจากโรคนี้เกิดจากสาเหตุที่หลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่ป้องกันได้ยาก ยกเว้นสาเหตุจากโรคหนองใน หรือหนองในเทียม สามารถป้องกันด้วยการป้องกันไม่ให้เป็นโรคเหล่านี้
ผู้ที่ได้รับการตรวจรักษาโรคทางเดินปัสสาวะ เช่น การใส่สายสวน การใช้เครื่องส่องตรวจ การผ่าตัด หรือการฉายรังสี ที่บริเวณท่อปัสสาวะ หากพบว่ามีอาการปัสสาวะลำบาก ออกทีละน้อย ออกเป็นหยด หรือถ่ายไม่ออกเลย ควรสงสัยว่าอาจมีภาวะท่อปัสสาวะตีบแทรกซ้อน ควรรีบกลับไปพบแพทย์โดยเร็ว