
อาการเกิดเนื่องจากร่างกายมีการสูญเสียโปรตีนออกไปทางปัสสาวะ เพราะมีความผิดปกติของหน่วยไต (glomerulus) ซึ่งเป็นหน่วยเล็ก ๆ ที่ทำหน้าที่กรองปัสสาวะ ทำให้มีระดับโปรตีนในเลือดต่ำ จึงเกิดอาการบวมทั้งตัว
ผู้ป่วยส่วนมาก จะไม่ทราบสาเหตุของความผิดปกติอย่างแน่ชัด
บางรายอาจมีประวัติเป็นโรคหน่วยไตอักเสบมาก่อน หรือพบร่วมกับเบาหวาน เอสแอลอี โรคปวดข้อรูมาตอยด์ ครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูงรุนแรง โรคเรื้อน ซิฟิลิส มาลาเรีย ตับอักเสบจากไวรัสบีหรือซี การติดเชื้อเอชไอวี มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือแพ้พิษงูหรือผึ้งต่อย แพ้สารหรือยาบางชนิด (เช่น โพรเบเนซิด แคปโทพริล ไรแฟมพิซิน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ลิเทียม การเสพเฮโรอีน) หรือเกิดจากสารพิษโลหะหนัก (เช่น ปรอท แคดเมียม)
มีอาการบวมทั่วตัว ทั้งที่หน้า หนังตา ท้อง และเท้า 2 ข้าง ซึ่งมักจะค่อย ๆ เกิดเพิ่มขึ้นทีละน้อย (มีเพียงส่วนน้อยที่อาจเกิดขึ้นฉับพลัน) ผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นหนังตาบวมชัดเจนเวลาตื่นนอน ปัสสาวะสีใสเหมือนปกติ แต่จะออกน้อยกว่าปกติ
ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร แต่ไม่มีไข้ นอนราบได้ และมักจะเดินเหินและทำงานได้

ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร เช่น ภาวะขาดโปรตีน (เกิดอาการแบบโรคขาดอาหารควาชิวากอร์) ผมและเล็บเปราะ ผมร่วง ภาวะโพแทสเซียมต่ำ ภาวะแคลเซียมต่ำ เป็นต้น
ร่างกายอาจมีภูมิคุ้มกันลดลง เนื่องจากการสูญเสียอิมมูโนโกลบูลิน (ซึ่งเป็นโปรตีนช่วยต้านทานโรค) ออกทางปัสสาวะ ทำให้เป็นโรคติดเชื้อง่าย เช่น เป็นฝีพุพอง ปอดอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ กรวยไตอักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษได้
บางรายอาจมีความดันโลหิตสูงแทรกซ้อน
บางรายอาจเกิดภาวะเลือดแข็งตัวง่าย เนื่องจากร่างกายมีสารกระตุ้นการแข็งตัวของเลือดเพิ่มขึ้น แต่สูญเสียสารในการละลายลิ่มเลือด อาจทำให้เกิดภาวะสิ่งหลุด (ลิ่มเลือด) อุดตันหลอดเลือดแดง (ที่ไต ที่เท้า ที่ปอด)
ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีภาวะไตวายแทรกซ้อน จนกลายเป็นไตวายระยะท้ายใน 5-20 ปี
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
หน้าบวม หนังตาบวม เท้าบวมกดบุ๋ม และอาจมีท้องบวม (ท้องมาน) ภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonaryedema) ซึ่งฟังปอดมีเสียงกรอบแกรบ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (pleural effusion)
ตรวจปัสสาวะพบสารไข่ขาว (albumin) ขนาด 3+ ถึง 4+
ถ้าเป็นนาน ๆ อาจมีอาการซีดร่วมด้วย
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือดและปัสสาวะ ซึ่งจะพบว่าระดับสารไข่ขาวในเลือดต่ำ (hypoalbuminemia) ระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และมีสารไข่ขาวในปัสสาวะมาก (ในผู้ใหญ่มีมากกว่า 3-5 กรัม/วัน)
นอกจากนี้ อาจทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุที่พบร่วม
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
ถ้าตรวจพบสาเหตุ ก็ให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น ให้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย งดยาที่แพ้
แพทย์จะให้ยารักษาภาวะที่พบร่วม เช่น ยาลดความดันโลหิต (เช่น อีนาลาพริล, โลซาร์แทน) ยาลดไขมัน (เช่น ซิมวาสแตติน) ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เช่น เฮพาริน, วาร์ฟาริน)
ส่วนในรายที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน มักจะให้สตีรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน และนัดไปตรวจเลือดและปัสสาวะเป็นประจำ
ถ้าพบว่าสารไข่ขาวในเลือดมีระดับสูงขึ้น และสารไข่ขาวในปัสสาวะลดน้อยลง พร้อมกับอาการบวมลดลง (น้ำหนักตัวลดลง) แสดงว่าอาการดีขึ้น ก็จะค่อย ๆ ลดยาลงทีละน้อย อาจให้กินยาอยู่นาน 2-3 เดือน
แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น อาจให้ยาขับปัสสาวะ เช่น ฟูโรซีไมด์เพิ่มอีกชนิดหนึ่ง
ถ้าไม่ได้ผล อาจต้องเจาะเนื้อไตออกพิสูจน์ (renal biopsy) หาสาเหตุและชนิดของโรค และอาจให้ยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive) เช่น ไซไคลฟอสฟาไมด์ (cyclophosphamide) ไซโคลสปอริน (cyclosporin) ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ผลการรักษา ขึ้นกับสาเหตุและชนิดของโรค
ถ้าผลการพิสูจน์ชิ้นเนื้อพบว่าเป็นชนิดเล็กน้อย (minimal lesion) ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากในเด็ก ก็มักจะหายขาดได้ บางรายเมื่อหยุดยาหลังจากอาการดีขึ้น ก็อาจกำเริบได้ใหม่ในภายหลัง และอาจต้องกินยานาน 6 เดือน-1 ปี ซึ่งในที่สุดก็มักจะหายขาดได้ น้อยรายที่จะกลายเป็นไตวายตามมา
ในรายที่มีภาวะไตวายรุนแรง แพทย์อาจต้องทำการล้างไต หรือปลูกถ่ายไต
ส่วนในรายที่เป็นชนิดร้ายแรง อาจรักษาไม่ได้ผล และเกิดภาวะไตวายแทรกซ้อน ถึงเสียชีวิตได้
หากสงสัย เช่น มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และมีอาการบวมทั่วตัว (ทั้งที่หน้า หนังตา ท้อง และเท้า 2 ข้าง) ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคไตเนโฟรติก ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- ควรพักผ่อนให้มาก ๆ
- งดอาหารเค็มเพื่อลดอาการบวม
- กินอาหารพวกโปรตีน (เนื้อ นม ไข่) ให้มาก ๆ (ประมาณ 80-90 กรัม/วัน)
- ลดการกินอาหารพวกไขมัน และคอเลสเตอรอล
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
- มีอาการไม่สบาย เช่น ไข้ ท้องเดิน หายใจหอบ เป็นต้น
- ขาดยาหรือยาหาย
- กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
เนื่องจากโรคนี้ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเล็ก จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล
ส่วนน้อยที่พบร่วมกับโรคต่าง ๆ หรือเกิดจากการใช้ยาบางชนิด อาจป้องกันด้วยการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ผล และระมัดระวังในการใช้ยา (เช่น หลีกเลี่ยงการซื้อยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์มาใช้เอง)
โรคนี้จะต้องรักษากันเป็นเวลานาน ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจนานเป็นแรมปี ควรติดต่อรักษากับแพทย์คนใดคนหนึ่งเป็นประจำ อย่าเปลี่ยนหมอ เปลี่ยนโรงพยาบาลเอง โดยทั่วไปถ้ามีปัญหาในการรักษา แพทย์ที่รักษาอยู่เดิมมักจะมีจดหมายส่งตัวผู้ป่วยไปรักษากับแพทย์ที่มีความชำนาญกว่า