


ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะเสื่อมตามวัย ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีจะเป็นต้อกระจกแทบทุกราย แต่อาจเป็นมากน้อยต่างกันไป เรียกว่า ต้อกระจกในผู้สูงอายุ (senile cataract)
นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งทำให้เกิดต้อกระจกก่อนวัยสูงอายุ เช่น
- การมีโรคเรื้อรังประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง) หรือมีภาวะอ้วน
- การถูกแสงแดด (รังสีอัลตราไวโอเลต)
- ความผิดปกติของตา (เช่น สายตาสั้นชนิดรุนแรง ม่านตาอักเสบ ต้อหิน) การได้รับบาดเจ็บ การกระทบกระเทือนที่ตาอย่างรุนแรง หรือการผ่าตัดตา
- การใช้ยา ที่พบบ่อย ได้แก่ การใช้ยาสตีรอยด์ติดต่อกันนาน ๆ ทั้งชนิดกิน ชนิดหยอดตา ชนิดทา และชนิดสูดพ่น
- การถูกรังสีบริเวณตานาน ๆ เช่น ผู้ที่เป็นมะเร็งที่เบ้าตาเมื่อรักษาด้วยรังสีบ่อย ๆ
- การสูบบุหรี่ หรือดื่มสุราจัด
- ในเด็กอาจเป็นมาแต่กำเนิด อาจมีสาเหตุจากติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา (เช่น ทารกที่เป็นหัดเยอรมัน หรือซิฟิลิสแต่กำเนิด) หรือเกิดจากโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ (เช่น โรคกาแล็กโทซีเมีย, โรคเท้าแสนปมชนิดที่ 2) หรือกลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome เป็นโรคปัญญาอ่อนชนิดหนึ่งซึ่งทารกมีโครโมโซมที่ผิดปกติ)
- เด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (atopic dermatitis) อาจพบว่าเป็นต้อกระจกตั้งแต่อายุ 20-40 ปี ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากตัวโรคเอง หรือเกิดจากการใช้สตีรอยด์ติดต่อกันนาน ๆ ก็ได้
ในระยะเริ่มแรกผู้ป่วยจะรู้สึกมีอาการตามองเห็นเหมือนมีหมอกจาง ๆ บังตาเพียงพื้นที่เล็ก ๆ ต่อมาสายตาจะค่อย ๆ มัวมากขึ้น และขยายพื้นที่ที่เห็นเหมือนหมอกบังมากขึ้น โดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือตาแดงแต่อย่างใด
ผู้ป่วยจะรู้สึกตอนกลางคืนสายตาจะมัวมาก การอ่านหนังสือหรือทำงานที่ต้องใช้สายตาต้องใช้แสงที่สว่างมากขึ้น หรืออาจต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อย
นอกจากนี้ ยังอาจมี อาการมองในที่มืดชัดกว่าที่สว่าง* หรือถูกแสงสว่างจะรู้สึกตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ มองเห็นภาพสีซีดกว่าปกติหรือเป็นสีเหลือง มองเห็นแสงไฟกระจาย (โดยเฉพาะขณะขับรถในตอนกลางคืน) หรือมองเห็นเป็นวงแหวนรอบแสงไฟ บางคนอาจมีอาการมองเห็นภาพซ้อน
อาการตามัวจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ กินเวลาเป็นแรมเดือนแรมปี จนในที่สุดเมื่อแก้วตาขุ่นขาวมากขึ้น ก็จะมองภาพ (เช่น ตัวเลข ตัวหนังสือ หน้าคน) ไม่ชัด
สำหรับต้อกระจกในผู้สูงอายุ มักจะเป็นที่ตาทั้ง 2 ข้าง แต่จะสุกไม่พร้อมกัน หรือข้างหนึ่งมีอาการมากกว่าอีกข้างหนึ่ง
เมื่อต้อสุกและไม่ได้รับการผ่าตัดจะทำให้ตาบอดสนิท
ในบางรายแก้วตาอาจบวม หรือหลุดลอยไปอุดกั้นทางระบายของเหลวในลูกตา ทำให้ความดันภายในลูกตาสูงขึ้น จนกลายเป็นต้อหินได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาอย่างรุนแรง
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
การตรวจดูตาจะพบแก้วตามีลักษณะขุ่นขาว เวลาใช้ไฟส่องผู้ป่วยจะรู้สึกตาพร่า
การใช้เครื่องส่องตา (ophthalmoscope) ตรวจดูจะไม่พบปฏิกิริยาสะท้อนสีแดง (red reflex)
แพทย์จะใช้เครื่องตรวจวัดสายตา ความดันลูกตา จอประสาทตา และการตรวจสุขภาพตาซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน
บางครั้งแพทย์อาจให้ยาหยอดตาขยายรูม่านตา เพื่อเปิดมุมกว้างสำหรับการตรวจภายในลูกตาได้ละเอียด อาจทำให้เห็นแสงจ้า หรือรู้สึกตาพร่ามัวอยู่สักพักใหญ่ และจะหายดีหลังจากยาหมดฤทธิ์
ถ้าอาการยังไม่มาก แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับการดูแลตนเองของผู้ป่วย ตัดแว่นสายตาใหม่ให้ผู้ป่วยใส่เพื่อให้มองเห็นได้ชัดขึ้น และนัดผู้ป่วยมาติดตามตรวจดูอาการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ (ทุก 6-12 เดือน)
แพทย์จะทำการผ่าตัดต้อกระจกเมื่อผู้ป่วยมีสายตามัวจนดำเนินชีวิตประจำวันได้ไม่สะดวก เช่น การอ่านหนังสือ การทำงานที่ต้องใช้สายตา การเดินทาง การขับรถ เป็นต้น
ส่วนในทารกที่เป็นต้อกระจกมาแต่กำเนิด อาจต้องผ่าตัดเมื่ออายุได้ 6 เดือน เพื่อป้องกันมิให้ประสาทตาเสื่อม
ในปัจจุบันจักษุแพทย์นิยมทำการผ่าตัดโดยวิธีสลายต้อด้วยคลื่นความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ (phacoemulsification) ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่มีอาการไม่มาก หรือตั้งแต่ระยะไม่นานหลังตรวจพบว่าเป็นโรคนี้
การผ่าตัดโดยวิธีนี้ แพทย์จะใช้คลื่นความถี่สูงทำให้เนื้อเลนส์ (แก้วตา) สลายตัวและดูดออก แล้วใส่เลนส์เทียม (ซึ่งสามารถใช้งานได้ตลอดชีวิต) เข้าไปแทนในถุงหุ้มเลนส์เดิม* เรียกว่า "การฝังเลนส์เทียม (Intraocular lens implantation)" โดยมีเลนส์เทียมอยู่หลายชนิด แพทย์จะเลือกใช้เลนส์เทียมชนิดที่เหมาะกับระดับสายตาและการใช้งานของผู้ป่วยซึ่งได้ผ่านการตรวจวัดสายตาอย่างละเอียดก่อนผ่าตัด หลังผ่าตัดผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้แว่นสายตา
การผ่าตัดใช้วิธีฉีดยาชาที่บริเวณรอบดวงตา แผลผ่าตัดเล็กมากซึ่งไม่ต้องเย็บแผล ใช้เวลาน้อยกว่า 1 ชั่วโมง ไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกทั้ง 2 ข้าง แพทย์จะทำการผ่าตัดทีละข้าง โดยการผ่าตัดข้างที่ 2 ทิ้งช่วงให้ข้างแรกที่ผ่าหายดีเสียก่อน (แผลผ่าตัดมักจะหายดีภายใน 8 สัปดาห์) บางรายแพทย์อาจทำผ่าตัดทั้ง 2 ข้างในครั้งเดียวกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีคนดูแลหลังผ่าตัดอย่างใกล้ชิด
ผลการรักษา การผ่าตัดด้วยวิธีนี้มีความปลอดภัยสูง และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นสายตาให้กลับมามองเห็นชัดเช่นคนปกติทั่วไป และตาข้างที่ผ่าตัดแล้วไม่เป็นต้อกระจกซ้ำอีก
ส่วนภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดมีน้อยมาก และมักแก้ไขได้ เช่น การติดเชื้อ การมีเลือดออกในลูกตา ภาวะถุงเลนส์ตาขุ่นหลังผ่าตัดต้อกระจก (posterior capsule opacification ซึ่งส่งผลให้การมองเห็นพร่ามัว) ภาวะจอตาลอก (retinal detachment) เป็นต้น
หากมีอาการสายตาพร่ามัว มองเห็นคล้ายมีหมอกบังตา หรือมองเห็นแสงสีที่ผิดไปจากปกติ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นต้อกระจก ควรดูแลรักษา ดังนี้
1. ระยะก่อนผ่าตัด
- รักษา ใส่แว่นสายตา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามดูอาการเปลี่ยนแปลงตามที่แพทย์นัด
- สวมแว่นกันแดด (รังสีอัลตราไวโอเลต) เวลาออกกลางแดด
- เวลาอยู่ในบ้านเพิ่มแสงสว่างให้เห็นชัด
- เวลาอ่านหนังสือ ใช้แว่นขยายช่วยตามความจำเป็น
- หลีกเลี่ยงการขับรถตอนกลางคืน
- หลีกเลี่ยงการซื้อยากินและยาหยอดตามาใช้เอง เพราะยังไม่มียาที่ใช้รักษาต้อกระจกให้หายได้ ยกเว้นการผ่าตัด
- ถ้ามีอาการปวดตา ตาแดง ตาแฉะ เคืองตา หรือแสบตา ควรปรึกษาแพทย์ ในรายที่ตรวจพบว่ามีอาการแสบตา เคืองตาจากภาวะตาแห้งซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ แพทย์จะให้น้ำตาเทียมหยอดตา
2. ระยะหลังผ่าตัด
- รักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เช่น นั่ง ยืน เดิน ออกกำลังกายเบา ๆ ไม่หักโหม อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ กินอาหารได้ตามปกติ อาบน้ำได้ (ยกเว้นส่วนใบหน้าและศีรษะ) สระผมได้ (แต่ควรสระที่ร้านสระผม) ระวังอย่าให้น้ำเข้าตา จนกว่าแผลจะหายสนิท ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์หลังผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงเบ่ง (เช่น การยกของหนัก การวิดพื้น การเบ่งอุจจาระแรง ๆ) และการไอหรือจามแรง ๆ ถ้ามีอาการไอมากควรพบแพทย์สั่งยาแก้ไอให้ เวลาจามควรอ้าปากจาม
- ห้ามให้น้ำเข้าตา ประมาณ 3-4 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ควรใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำบิดให้หมาดเช็ดหน้าแทนการล้างหน้า และทำความสะอาดตาข้างที่ผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์หรือพยาบาลทุกวัน โดยใช้น้ำเกลือและชุดเช็ดตาที่ทางโรงพยาบาลจัดให้
- ห้ามขยี้ตาหรือกระทบกระเทือนรุนแรงบริเวณดวงตาข้างที่ผ่าตัด ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ควรป้องกันเหตุดังกล่าวด้วยการใช้ที่ครอบตาพลาสติกปิดตา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเข้านอนทุกคืน) ในเวลากลางวันหากไม่สะดวกที่จะใช้ที่ครอบตา สามารถสวมแว่นป้องกันดวงตาแทนที่ครอบตาได้
- หลีกเลี่ยงการใช้โลชั่น หรือการแต่งหน้ารอบ ๆ ดวงตา
- ใช้ยาหยอดตา/ยาป้ายตาที่แพทย์จัดให้อย่างเคร่งครัด (ซึ่งมักเป็นยาลดการอักเสบและยาปฏิชีวนะ) ควรหยอดตา/ป้ายตาเฉพาะข้างที่ผ่าตัดเท่านั้น ห้ามหยอด/ป้ายข้างที่ไม่ได้ผ่าตัด
- หลังเปิดตา (แพทย์จะแนะนำให้ใช้แผ่นผ้าปิดตาข้างที่ผ่าไว้ราว 5-7 วันหลังผ่าตัด) ตาข้างที่ผ่าตัดจะเห็นแสงจ้ามากกว่าปกติ ซึ่งจะค่อย ๆ ปรับเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ หากรู้สึกจ้ามากเมื่ออยู่ในที่สว่าง ควรใส่แว่นตาดำกันแสง
- ควรใส่แว่นตาดำกันแดดขณะออกไปข้างนอก หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่นหรือควันมาก
- ติดตามการรักษาตามที่แพทย์นัด โดยทั่วไปแพทย์จะนัดมาดูแผลในวันรุ่งขึ้น และ 1 สัปดาห์ และ 1 เดือน หลังผ่าตัด หากไม่มีปัญหาแทรกซ้อนก็จะนัดห่างขึ้นไป และในที่สุดแพทย์จะนัดตรวจสุขภาพตาปีละ 1 ครั้ง
- ควรกลับไปปรึกษาแพทย์ก่อนนัดทันที
- ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น เปลือกตาบวม ตาแดงมากขึ้น ปวดตามาก มีขี้ตามากขึ้น เห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูป ตาข้างที่ผ่าเคยชัดกลับมัวลงอีก หรือเผลอขยี้ตาหรือตาได้รับการกระทบกระเทือนแรง
- ในกรณีที่แพทย์ให้ยากิน ยาหยอดตา/ยาป้ายตากลับไปใช้ที่บ้าน หากสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง คันตา ตาบวม ตาแดง ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ต้อกระจกในผู้สูงอายุ ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล แต่อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจก หรือป้องกันไม่ให้เกิดต้อกระจกก่อนวัยอันควร ด้วยการปฏิบัติตัวดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการดื่มสุราจัด
- หลีกเลี่ยงการซื้อยาสตีรอยด์ ยาชุดหรือยาลูกกลอนที่ใส่ยาสตีรอยด์มาใช้เองอย่างพร่ำเพรื่อ (ยาสตีรอยด์เป็นยาอันตรายที่ควรให้แพทย์สั่งใช้ตามความจำเป็น)
- สวมแว่นกันแดด (รังสีอัลตราไวโอเลต) เวลาออกกลางแดด
- ถ้าน้ำหนักเกิน ลดน้ำหนัก
- ควบคุมโรคประจำตัว (เช่น เบาหาน ความดันโลหิต) ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและเกลือแร่ให้เพียงพอ ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกได้
1. อาการตามัวอาจมีสาเหตุอื่นนอกจากต้อกระจก ควรซักถามอาการและตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่ใช่เกิดจากภาวะร้ายแรง เช่น ต้อหิน (ตรวจอาการตามัว)
2. ต้อกระจกที่พบในผู้ที่มีอายุน้อย หรือวัยกลางคน อาจมีสาเหตุจากเบาหวานหรืออื่น ๆ ได้ ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาล
3. การรักษาต้อกระจกมีอยู่วิธีเดียว คือ การผ่าตัด ไม่มียาที่ใช้กินหรือหยอดแก้อาการของต้อกระจกได้ ปัจจุบันแพทย์นิยมทำการผ่าตัดโดยวิธีสลายต้อด้วยคลื่นความถี่สูงและการฝังเลนส์เทียม ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ เลนส์เทียมชนิดโฟกัสระยะเดียว (monofocal IOL ช่วยให้สามารถโฟกัสภาพในระยะไกลได้ ส่วนการมองใกล้ต้องอาศัยแว่นอ่านหนังสือช่วย), เลนส์เทียมชนิดโฟกัสหลายระยะ (multifocal IOL ใช้สำหรับมองไกลและใกล้ได้), เลนส์เทียมชนิดยืดหยุ่น (accommodating IOL ปรับระยะได้ในตัวเอง คล้ายแก้วตาธรรมชาติ), เลนส์เทียมชนิดแก้ไขสายตาเอียง (Toric IOL ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้แว่นตาแก้สายตาเอียงหลังผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีสายตาเอียงอยู่เดิม), เลนส์เทียมชนิดโฟกัสหลายระยะและแก้ไขสายตาเอียง (Multifocal Toric IOL ช่วยให้มองเห็นในระยะใกล้และไกลชัดเจน และแก้ไขสายตาเอียง)
สำหรับผู้ป่วยที่มีข้อห้าม ไม่สามารถผ่าตัดโดยวิธีฝังเลนส์เทียม หลังผ่าตัดเอาต้อกระจกออก แพทย์จะวัดสายตาและตัดแว่นให้ผู้ป่วยใส่แทน
4. ถ้าหลังจากผ่าตัด ตาข้างนั้นมีอาการตามัวอีก ควรกลับไปปรึกษาแพทย์ อาจเกิดจากถุงหุ้มเลนส์ขุ่น หรือสาเหตุอื่น เช่น ต้อหิน จอตาเสื่อม เป็นต้น
5. ผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกควรหลีกเลี่ยงการไปรักษาตามแบบพื้นบ้าน ซึ่งบางคนยังนิยมเพราะกลัวการผ่าตัด หรือกลัวเสียค่าใช้จ่ายมาก หมอเหล่านี้ (ซึ่งไม่ใช่แพทย์) จะทำการเดาะแก้วตา (couching) โดยการใช้เข็มดันแก้วตาให้หลุดไปด้านหลังของลูกตา แสงก็จะผ่านเข้าไปในตาได้ ทำให้มองเห็นแสงสว่างได้ทันที และให้ใส่แว่นทำให้มองเห็นได้ชัดขึ้น แต่ไม่ช้าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ต้อหิน เลือดออกในวุ้นลูกตา หรือประสาทตาเสื่อมทำให้ตาบอดอย่างถาวร