สำหรับกลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. การรักษาทางยา เป็นกลุ่มยาที่ใช้บรรเทาอาการ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตเป็นปกติสุขหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มิใช่ยาที่ทำให้เซลล์สมองที่ตายไปแล้วฟื้นตัวกลับมาหรืองอกใหม่ได้
ยาที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน ใช้กัน ได้แก่ เลโวโดพา (levodopa) ตัวยาจะเปลี่ยนเป็นสารโดพามีนเข้าสู่สมองโดยตรง เป็นการทดแทนสารโดพามีนที่พร่องไป นิยมใช้ร่วมกับคาร์บิโดพา (carbidopa) ซึ่งช่วยเสริมฤทธิ์ของยาเลโวโดพา โดยผสมอยู่ในเม็ดเดียวกัน
นอกจากนี้แพทย์อาจเลือกใช้ยากลุ่มอื่น อาทิ
- กลุ่มยาแอนติโคลิเนอร์จิก เช่น เบนซ์โทรพีน (benztropine) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อย หรือใช้เสริมกับยาเลโวโดพาในการควบคุมอาการสั่น หรือใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนจากยาเลโวโดพา
- กลุ่มยากระตุ้นโดพามีน (dopamine agonist) เช่น pramipexole, ropinirole เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อย หรือใช้ร่วมกับยาเลโวโดพา
- กลุ่มยาต้านโมโนเอมีนออกซิเดส (monoamine oxidase inhibitors) เช่น selegiline, rasagiline เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสันระยะแรกเริ่ม
2. การรักษาทางกายภาพบำบัด ช่วยให้ร่างกายสมส่วน ทรงตัว และเคลื่อนไหวถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขภาวะแทรกซ้อน เช่น หลังโก่ง ไหล่ติด ปวดคอ ปวดเอว ปวดหลัง ปวดขา เป็นต้น
3. การรักษาด้วยการผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุน้อยและมีอาการไม่มากนัก แพทย์จะทำการผ่าตัดสมอง โดยนำเนื้อเยื่อ (จากต่อมหมวกไต หรือปมประสาทบริเวณคอ หรือเซลล์สมองของทารกที่เสียชีวิตในครรภ์) ไปปลูกถ่ายในสมองเพื่อให้เนื้อเยื่อเหล่านี้ สร้างสารโดพามีนขึ้นมาทดแทน วิธีนี้ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องกินยาหรือลดขนาดยาลงได้
ในบางรายแพทย์อาจทำการผ่าตัดฝังสาย (electrode) เพื่อกระตุ้นด้วยไฟฟ้าไว้ในสมอง (deep brain stimulation/DBS) ซึ่งจะช่วยแก้ไขอาการยุกยิก แข็งเกร็งและสั่น
สำหรับกลุ่มที่เกิดจากการใช้ยา แพทย์จะหยุดยาที่เป็นสาเหตุ หลังหยุดยา ส่วนหนึ่งอาการจะทุเลาและหายขาด ซึ่งอาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ ๆ หรือ อาจนาน 4 - 8 เดือน บางส่วนจะเป็นถาวร