แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้การรักษาตามอาการและการรักษาแบบประคับประคอง เช่น ถ้ากินอาหารไม่ได้ ให้น้ำเกลือ หรือให้อาหารทางสายยางหรือทางหลอดเลือดดำ, ถ้าหายใจไม่ได้ ใช้เครื่องช่วยหายใจ, ถ้าปัสสาวะไม่ได้ ใส่สายสวนปัสสาวะ เป็นต้น
แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุ ดังนี้
1. ในรายที่เป็นโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ (TIA) ซึ่งมีอาการเพียงชั่วขณะแล้วหายเป็นปกติได้เอง แพทย์จะให้ยาควบคุมโรคหรือภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ เป็นต้น และให้ยาต้านเกล็ดเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดขึ้นใหม่ ยาที่ใช้ได้แก่ แอสไพริน ขนาด 81-325 มก. วันละครั้ง ทุกวัน ในรายที่กินแอสไพรินไม่ได้ อาจให้ไทโคลดิพีน (ticlodipine) หรือโคลพิโดเกรล (clopidogrel)
ในรายที่ตรวจพบว่า หลอดเลือดแดงที่คอ (internal carotid artery) มีการตีบมากกว่าร้อยละ 70 อาจต้องทำการผ่าตัดหลอดเลือด (endarterectomy) เพื่อขจัดก้อนไขมันและลิ่มเลือดออกไป บางรายอาจใช้บัลลูนขยายหลอดเลือดและใส่หลอดลวดตาข่าย (stent)
2. ในรายที่เกิดจากสมองขาดเลือดจากการอุดตัน นอกจากให้การรักษาตามอาการ (เช่น ให้น้ำเกลือ ช่วยการหายใจ ควบคุมชีพจรถ้าเต้นแผ่วระรัว ยาลดไข้ถ้าไข้สูง ให้ยาลดความดันโลหิตถ้าสูงมาก) แล้ว เมื่อถ่ายภาพสมองยืนยันว่าเกิดจากภาวะนี้ (ไม่ใช่เลือดออกในสมอง) แพทย์ก็จะพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือด (thrombolytic agent) ได้แก่ recombinant tissue-type plasminogen activator (tPA) เข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อเปิดทางให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมอง ทำให้เซลล์สมองไม่ตาย ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นคืนสู่ปกติได้เร็ว ยานี้จะได้ผลดีต้องให้ภายใน 270 นาทีหลังมีอาการกำเริบ และผู้ป่วยจะต้องไม่มีภาวะที่เป็นข้อห้ามในการใช้ยานี้ (เช่น หมดสติ ชักเมื่อแรกมีอาการ ความดันโลหิต > 185/110 มม.ปรอท เกล็ดเลือดต่ำ ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ภาวะการแข็งตัวของเลือดบกพร่อง มีภาวะเลือดออก เป็นต้น)
ในบางกรณี แพทย์อาจให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม (anti-coagulant) ได้แก่ เฮพาริน (heparin) ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว โรคลิ้นหัวใจพิการหรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดซ้ำ ถ้าให้ตามหลังยาละลายลิ่มเลือด (tPA) ควรทิ้งช่วงให้ห่างอย่างน้อย 24 ชั่วโมงขึ้นไป
หลังจากอาการคงที่แล้ว แพทย์จะให้ยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน, โคลพิโดเกรล) ให้ยาควบคุมโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุ และทำการฟื้นฟูสภาพ โดยการทำกายภาพบำบัดและการใช้อุปกรณ์ช่วย
ในรายที่ตรวจพบมีหลอดเลือดแดงที่คอตีบ อาจให้การรักษาด้วยการผ่าตัดหลอดเลือด หรือใช้บัลลูนขยายหลอดเลือด
ผลการรักษา ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ถ้าเป็นเล็กน้อยและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรกก็อาจหายเป็นปกติ หรือฟื้นสภาพได้จนเกือบปกติ จนช่วยตัวเองได้ พูดได้ เดินได้ แต่อาจใช้มือไม่ถนัด ในรายที่เป็นรุนแรงหรือไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ก็มักจะมีความพิการหรือบกพร่องทางร่างกาย ซึ่งต้องการการดูแลจากผู้อื่น นั่งรถเข็น หรือใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน
ส่วนน้อยที่จะพิการรุนแรง จนต้องนอนอยู่บนเตียง และต้องการผู้ดูแลตลอดเวลา หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตขณะพักรักษาอยู่ในโรงพยาบาล
โดยทั่วไปการฟื้นตัวของร่างกายมักจะต้องใช้เวลา ถ้าจะดีขึ้นก็จะเริ่มมีอาการดีขึ้นให้เห็นภายใน 2-3 สัปดาห์ และจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถช่วยตัวเองได้หรือหายจนเกือบเป็นปกติ
3. ในรายที่เกิดจากหลอดเลือดสมองแตก ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้น้ำเกลือ ใส่ท่อหายใจและเครื่องช่วยหายใจ ควบคุมความดันโลหิตถ้าสูงรุนแรง เป็นต้น ในรายที่มีก้อนเลือดในสมองอาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดสมองแบบเร่งด่วน ส่วนในรายที่มีเลือดออกเพียงเล็กน้อยและไม่กดถูกสมองส่วนสำคัญ ก็อาจไม่ต้องผ่าตัด เมื่อปลอดภัยแล้วจึงค่อยทำการฟื้นฟูสภาพต่อไป
ผลการรักษา ขึ้นกับตำแหน่งและปริมาณของเลือดที่ออก สภาพของผู้ป่วย (อายุ โรคประจำตัว) และการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
ถ้าเลือดออกในก้านสมองจะมีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 90-95 เมื่อพบภาวะนี้มักจะไม่สามารถให้การบำบัดรักษา
ถ้าก้อนเลือดมีขนาดใหญ่ และแตกเข้าโพรงสมอง จะมีอัตราตายถึงร้อยละ 50
ถ้าเลือดออกที่บริเวณผิวสมอง หรือก้อนเลือดขนาดเล็ก และไม่แตกเข้าโพรงสมองจะมีอัตราตายต่ำ
ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หากรอดชีวิต ก็มักจะมีความพิการอย่างถาวร บางรายอาจกลายสภาพเป็นผักหรือคนนิทรา (vegetative state) อยู่นานหลายปี ในที่สุดมักเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ โรคติดเชื้อต่าง ๆ
ส่วนผู้ป่วยที่มีอายุน้อย ซึ่งมักเกิดจากการแตกของหลอดเลือดที่ผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด ถ้าแตกตรงตำแหน่งที่ไม่สำคัญ และได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก มักจะสามารถฟื้นหายได้เป็นปกติ
ผู้ป่วยหลังผ่าตัดบางราย แม้ว่าร่างกายจะฟื้นตัวได้ดี แต่อาจมีโรคลมชักแทรกซ้อนตามมา ซึ่งจำเป็นต้องกินยากันชักควบคุมอาการตลอดไป