
อาการหมดสติ ถือเป็นภาวะร้ายแรง ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที มักจะตายได้รวดเร็ว
สาเหตุ
มีสาเหตุได้มากมาย เช่น ศีรษะได้รับบาดเจ็บ จมน้ำ ไฟฟ้าช็อต กินยาพิษ แพ้ยา ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ มาลาเรียขึ้นสมอง หลอดเลือดฝอยในสมองแตก ตับแข็ง เบาหวาน ภาวะไตวาย เป็นต้น
ผู้ป่วยมักมีประวัติได้รับอุบัติเหตุ ตั้งใจกินยาหรือเสพยาเกินขนาดหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ก่อนที่จะมีอาการหมดสติ
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการหมดสติและหมดความรู้สึกทุกอย่าง ปลุกอย่างไรก็ไม่ยอมตื่น
นอกจากนี้ยังอาจมีอาการหายใจไม่ปกติ (เช่น หอบ หายใจขัด) อาจมีอาการอัมพาตของแขนขา ปากเบี้ยว ตัวเกร็ง ชักกระตุก คอแข็ง หรือมีไข้สูง
ถ้าเป็นรุนแรง อาจหยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น
ภาวะแทรกซ้อน
ขณะเป็นลมหมดสติ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขณะขับรถ ทำงานกับเครื่องจักร หรือว่ายน้ำ เป็นอันตรายได้ หรืออาจล้มฟุบ หรือตกจากที่สูง ได้รับบาดเจ็บ เช่น บาดแผล กระดูกหัก ศีรษะได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และตรวจพบอาการแน่นิ่งหมดสติ อาจมีอาการหายใจขัด ชักกระตุก มีไข้ หรือความดันโลหิตสูง
แพทย์จะทำการการตรวจดูรูม่านตา เพื่อการวินิจฉัยเบื้องต้น
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ คลื่นหัวใจ และอื่น ๆ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
ขณะเดียวกันก็ต้องรีบช่วยชีวิตผู้ป่วย ด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจ (อาจจำเป็นต้องเจาะคอถ้าอยู่โรงพยาบาลนานวัน) ให้น้ำเกลือ ให้ออกซิเจน ให้เลือดถ้าเสียเลือด ล้างท้องถ้าเกิดจากการกินสารพิษ
ผลการรักษา ขึ้นกับความรุนแรงและสภาพร่างกายของผู้ป่วย ถ้ามีสาเหตุที่แก้ไขได้และได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องได้ทันท่วงที ก็มีโอกาสรอดชีวิตและฟื้นหายเป็นปกติได้ แต่ถ้ามีสาเหตุที่ยุ่งยากซับซ้อนหรือได้รับการดูแลรักษาเนิ่นช้าเกินไป ก็มีโอกาสเสียชีวิตหรือพิการ
การดูแลตนเอง
หากพบผู้ป่วยมีอาการหมดสติ ควรทำการปฐมพยาบาล และรีบพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว
ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การปฐมพยาบาล
ในกรณีที่ผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ช่วยผายปอดด้วยการเป่าปากทันที ซึ่งสามารถกระทำได้ดังนี้
1. จับผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นแข็ง ๆ เช่น พื้นห้องหรือกระดานแข็งแล้วปลดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้หลวม
2. ใช้นิ้วมือล้วงเอาเศษอาหาร เสมหะ ฟันปลอม สิ่งแปลกปลอมออกจากปากของผู้ป่วย
3. จับศีรษะผู้ป่วยหงายไปข้างหลัง โดยใช้มือข้างหนึ่งรองอยู่ใต้คอผู้ป่วย และยกคอขึ้น (หรือใช้หมอนหรือผ้าห่มหนุนไหล่ให้สูงขึ้น) แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งวางที่หน้าผากผู้ป่วย และกดลงแรง ๆ ให้คางของผู้ป่วยยกขึ้น
4. ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ของมือข้างที่วางอยู่บนหน้าผากผู้ป่วย บีบจมูกผู้ป่วยให้แน่น สูดหายใจเข้าแรง ๆ แล้วใช้ปากประกบปากของผู้ป่วย (จะใช้ผ้าบาง ๆ รองหรือไม่ก็ได้) พร้อมกับเป่าลมหายใจเข้าแรง ๆ เสร็จแล้วยกปากขึ้น สูดลมหายใจเข้าแรง ๆ แล้วเป่าปากผู้ป่วยซ้ำอีกครั้ง ในระยะแรกให้ทำการเป่าปากผู้ป่วยติด ๆ กัน 4 ครั้ง ต่อไปเป่าประมาณนาทีละ 12 ครั้ง (ทุก ๆ 5 วินาที)
สำหรับทารกและเด็กเล็ก อาจใช้ปากประกบคร่อมปากและจมูกเด็ก และเป่าลมให้แรงพอให้หน้าอกขยาย (อย่าแรงเกินไป) ประมาณนาทีละ 20 ครั้ง (ทุก ๆ 3 วินาที)
ถ้าทำการเป่าปากได้ผล จะสังเกตเห็นหน้าอกของผู้ป่วยขยายขึ้น และแฟบลงตามจังหวะ
ถ้าหน้าอกผู้ป่วยไม่ขยาย หรือสงสัยลมจะไม่เข้าปอดผู้ป่วย ให้สอดนิ้วหัวแม่มือเข้าในปากของผู้ป่วย แล้วจับขากรรไกรล่างให้แน่น พร้อมกับงัดแรง ๆ ให้ปากอ้ากว้าง แล้วทำการเป่าปากตามวิธีดังกล่าว
ให้ทำการผายปอดไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เอง หรือจนกว่าจะพาผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาล
5. ถ้าผู้ป่วยมีอาการหัวใจหยุดเต้น (คลำชีพจร หรือฟังเสียงหัวใจไม่ได้) ให้ทำการนวดหัวใจทันที ประมาณ 100-120 ครั้ง/นาที การนวดหัวใจ ควรวางมือไว้ตรงกลางหน้าอก แล้วใช้แรงกดลงทั้งตัว กดลึกประมาณ 2-2.4 นิ้ว หรือ 5-6 ซม. (สำหรับผู้ใหญ่) 1.5 นิ้ว (สำหรับเด็ก) แล้วปล่อยให้สุด
ถ้ามีผู้ทำการช่วยเหลือเพียงคนเดียว สำหรับผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ให้นวดหัวใจ 30 ครั้ง แล้วเป่าปาก 2 ครั้ง สลับกันไปเรื่อย ๆ (หรือในกรณีที่เป่าปากไม่เป็น ให้ทำการนวดหัวใจเพียงอย่างเดียวก็ได้)
แต่ถ้ามีผู้ช่วย 2 คน สำหรับผู้ใหญ่ให้นวดหัวใจ 30 ครั้ง สลับกับเป่าปาก 2 ครั้ง ส่วนเด็กให้นวดหัวใจ 15 ครั้ง สลับกับเป่าปาก 2 ครั้ง (ในกรณีที่ไม่สะดวกที่จะทำการเป่าปาก ให้ทำการนวดหัวใจเพียงอย่างเดียวก็ได้)
หากมีเครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติ (automatic external defibrillator / AED ) ให้ใช้เครื่องนี้กระตุ้นหัวใจทันทีที่พบว่าหัวใจหยุดเต้น แล้วค่อยทำการนวดหัวใจดังกล่าว

ในกรณีที่ผู้ป่วยยังหายใจได้เอง ให้ทำการปฐมพยาบาล ดังนี้
1. จับผู้ป่วยนอนหงาย และจับศีรษะให้หงายขึ้นมาก ๆ และใช้นิ้วล้วงเอาอาเจียน เสมหะ ฟันปลอม สิ่งแปลกปลอมออกจากปากของผู้ป่วย
2. ปลดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้หลวม
3. ห้ามให้ผู้ป่วยกินหรือดื่มอะไรทางปาก
4. ถ้าสงสัยผู้ป่วยมีกระดูกหัก ต้องระมัดระวังในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสงสัยกระดูกคอหรือกระดูกหลังหัก (ดู "ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ")
5. ถ้าแน่ใจว่าไม่มีกระดูกหัก ให้จัดท่าผู้ป่วยอยู่ในท่าพักฟื้น (recovery position) โดยจับให้ผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง และให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเล็กน้อย เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจสะดวก และป้องกันมิให้สำลักเอาเศษอาหารหรือเสมหะเข้าไปในปอด เป็นเหตุให้เกิดอันตรายได้
6. ใช้ผ้าห่มคลุมตัวผู้ป่วย เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น
7. นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ควรติดตามผู้ป่วยไปด้วย เพื่อทำการช่วยผายปอดถ้าเกิดหยุดหายใจระหว่างทาง

การป้องกัน
ควรป้องกันไม่ให้เกิดอาการหมดสติ ด้วยการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหรือโรคที่เป็นต้นเหตุของอาการหมดสติ (เช่น การบาดเจ็บรุนแรง การป่วยเป็นโรคเรื้อรังหรือร้ายแรงต่าง ๆ)
หากมีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น) ควรรักษาอย่างจริงจัง
ข้อแนะนำ
อาการหมดสติ มักเป็นผลแทรกซ้อนที่อันตรายร้ายแรงของการเจ็บป่วยต่าง ๆ เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ ญาติหรือผู้ที่พบเห็นควรให้การปฐมพยาบาลทันที และนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที (ทางที่ดีควรโทรศัพท์ติดต่อขอรถของโรงพยาบาลหรือหน่วยกู้ชีพ) เมื่อถึงโรงพยาบาล แพทย์จะทำการช่วยชีวิต ทำการตรวจหาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุที่พบ