
โรคพิษสุนัขบ้า (โรคกลัวน้ำ) เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงที่ยังไม่มีทางเยียวยารักษา ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการแสดงมักจะเสียชีวิตภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน ในปีหนึ่ง ๆ มีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้อยู่พอสมควร (ในระยะหลัง ๆ นี้มีรายงานผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคนี้ลดลง คือ ประมาณปีละ 20-30 ราย) ผู้ป่วยมักมีประวัติถูกสุนัขบ้ากัดแล้วไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
นอกจากนี้ยังพบว่า ในปีหนึ่ง ๆ มีคนที่ถูกสุนัขบ้าหรือสัตว์อื่นที่สงสัยมีเชื้อสุนัขบ้ากัด หรือข่วน ที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในเรื่องวัคซีนจำนวนมหาศาล และนำความหวาดผวาหรือความวิตกกังวลมาสู่ครอบครัวของคนที่ถูกกัดมากมาย
โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ตั้งแต่ถูกสัตว์ที่มีพิษสุนัขบ้ากัดใหม่ ๆ
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อพิษสุนัขบ้า (rabies virus ซึ่งเป็น lyssavirus type 1 ในตระกูล Rhabdoviridae) ที่อยู่ในน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่พบบ่อย คือ สุนัข* แมว นอกจากนี้ยังพบในค้างคาว สัตว์ป่าต่าง ๆ ปศุสัตว์ (เช่น วัว ควาย แพะ แกะ หมู ลา อูฐ) สัตว์แทะ (เช่น กระรอก หนู) เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลบนผิวหนัง โดยการถูกสัตว์กัด ข่วนหรือเลีย (สำหรับการเลีย จะต้องเลียถูกเยื่อเมือกหรือรอยแผลถลอกเล็ก ๆ น้อย ๆ เชื้อจึงจะเข้าได้ แต่ถ้าผิวหนังเป็นปกติดี เชื้อจะผ่านเข้าไปไม่ได้) เชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน แล้วเดินทางขึ้นไปตามเส้นประสาทส่วนปลายเข้าสู่ไขสันหลังและสมอง หลังจากนั้นจะแพร่กระจายลงมาตามระบบประสาทส่วนปลายไปยังอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งต่อมน้ำลาย บางครั้งเชื้ออาจเดินทางเข้าสมองโดยไม่ต้องรอให้มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน (ทำให้มีระยะฟักตัวของโรคสั้นกว่า 7 วัน) บางครั้งเชื้ออาจเข้าไปอาศัยอยู่ในเซลล์อื่น เช่น มาโครฟาจ (macrophage) เป็นเวลานานก่อนจะออกมาสู่เซลล์ประสาท (ทำให้มีระยะฟักตัวของโรคยาว)
ระยะฟักตัว (ระยะที่ถูกกัดจนกระทั่งมีอาการ) 7 วัน ถึง 6 ปี ส่วนใหญ่เกิดในช่วง 20-60 วันหลังสัมผัสโรค ส่วนน้อยพบอาการหลังสัมผัสโรคมากกว่า 1 ปี ผู้ที่ถูกกัดที่หน้าและศีรษะรุนแรงมักมีระยะฟักตัวสั้น
*ในบ้านเราสุนัขเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่พบบ่อยที่สุด
สุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนใหญ่มักแสดงอาการแบบดุร้าย โดยระยะแรกเริ่มจะมีลักษณะผิดไปจากที่เคย เช่น สุนัขที่เคยคลุกคลีกับเจ้าของจะแยกตัวและมีอารมณ์หงุดหงิด สุนัขที่ไม่เคยคลุกคลีกับเจ้าของกลับคอยเคล้าเคลียเจ้าของ 2-3 วันต่อมาจะเข้าสู่ระยะตื่นเต้น โดยหมกตัวตามมุมมืด ตอบสนองไวต่อเสียงและสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ต่อมามีอาการกระวนกระวาย อาจแสดงอาการงับแมลงหรือวัตถุ (เช่น ก้อนหิน ดิน เศษไม้) ที่ขวางหน้า แล้วเริ่มออกวิ่งพล่าน ดุร้าย กัดคนและทุกสิ่งที่ขวางหน้า มีอาการเสียงเห่าหอนผิดปกติ ลิ้นห้อย น้ำลายไหลยืด ต่อมามีอาการขาอ่อนเปลี้ยลง ลำตัวแข็งทื่อ สุนัขจะแสดงอาการในระยะตื่นเต้นนี้ประมาณ 1-7 วัน ช่วงสุดท้ายอาจมีอาการชักแล้วตาย หรือเข้าสู่อาการระยะสุดท้ายคือ ระยะอัมพาต โดยเกิดอาการอัมพาตทั้งตัว สุนัขจะล้มลงแล้วลุกขึ้นไม่ได้ และมักจะตายภายใน 2-3 วัน
สุนัขบางตัวอาจแสดงอาการแบบซึม คือ มีไข้ นอนซม ซึม ไม่กินอาหารและน้ำ ชอบอยู่ในที่มืด ๆ ที่ถูกบังคับจะกัดหรืองับ อาจแสดงอาการคล้ายมีก้างหรือกระดูกติดคอ เช่น ไอ ใช้ขาตะกุยคอ ต่อมาสุนัขจะเดินโงนเงนเปะปะ เป็นอัมพาตทั้งตัว มักตายภายใน 10 วัน (ส่วนใหญ่ 4-6 วัน) โดยไม่แสดงอาการกลัวน้ำแบบที่พบในคน
อาการ
ระยะอาการนำของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ (38-38.5 องศาเซลเซียส) ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน อาจมีอาการกระสับกระส่าย ลุกลี้ลุกลน วิตกกังวล มีความรู้สึกกลัว นอนไม่หลับ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
ที่สำคัญซึ่งถือเป็นอาการที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคนี้ คือ บริเวณบาดแผลที่ถูกกัด อาจมีอาการปวดเสียว คัน ชา หรือปวดแสบปวดร้อน โดยเริ่มที่บริเวณบาดแผล แล้วลามไปทั่วทั้งแขนหรือขา
ระยะปรากฏอาการทางระบบประสาท มักเกิดภายหลังอาการนำดังกล่าว 2-10 วัน ซึ่งแบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่
1. แบบคลุ้มคลั่ง ซึ่งพบได้บ่อยสุด (ประมาณร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วย) ในระยะแรก ๆ อาจมีเพียงอาการไข้ กระวนกระวาย สับสน ซึ่งจะเกิดบ่อยเมื่อถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้า เช่น แสง เสียง เป็นต้น ต่อมาจะมีการแกว่งของระดับความรู้สึกตัว (เดี๋ยวดี เดี๋ยวไม่ดีสลับกัน) ขณะรู้สึกตัวดี ผู้ป่วยจะพูดคุยตอบโต้ได้เป็นปกติ แต่ขณะความรู้สึกตัวไม่ดี ผู้ป่วยจะมีอาการกระวนกระวาย ผุดลุกผุดนั่ง เดินเพ่นพ่าน เอะอะอาละวาด
ต่อมาจะมีอาการกลัวลม (เพียงแต่เป่าลมเข้าที่หน้าหรือคอจะมีอาการผวา) กลัวน้ำ (เวลาดื่มน้ำจะปวดเกร็งกล้ามเนื้อคอหอยทำให้กลืนไม่ได้ ไม่กล้าดื่มน้ำทั้ง ๆ ที่กระหาย หรือแม้แต่จะกล่าวถึงน้ำก็กลัว) ซึ่งพบได้เกือบทุกราย แต่ไม่จำเป็นต้องพบร่วมกันทั้ง 2 อาการ และอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อผู้ป่วยเริ่มเข้าสู่ระยะไม่รู้สึกตัว
นอกจากนี้ ยังพบอาการถอนหายใจเป็นพัก ๆ (มักพบในระยะหลังของโรค) และอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น น้ำตาไหล น้ำลายไหล เหงื่อออกมาก ขนลุก ในผู้ชายอาจมีการแข็งตัวขององคชาตและหลั่งน้ำอสุจิบ่อย ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยไม่ตั้งใจ
ในที่สุดผู้ป่วยจะซึม หมดสติ หยุดหายใจ และเสียชีวิตภายใน 7 วัน (เฉลี่ย 5 วัน) หลังจากเริ่มแสดงอาการ
2. แบบอัมพาต (นิ่งเงียบ) ซึ่งพบได้บ่อยรองลงมา (ประมาณร้อยละ 30) มักมีอาการไข้ ร่วมกับกล้ามเนื้อแขนขาและทั่วร่างกายอ่อนแรง กลั้นปัสสาวะไม่ได้ พบอาการกลัวลมและกลัวน้ำประมาณร้อยละ 50 ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเสียชีวิตช้ากว่าแบบที่ 1 คือ เฉลี่ย 13 วัน
บางครั้งอาจแยกจากกลุ่มอาการกิลเลนบาร์เรได้ยาก (อ่านเพิ่มเติมที่หัวข้อ "ข้อแนะนำ" โรคโปลิโอ)
3. แบบแสดงอาการไม่ตรงต้นแบบ (non-classic) ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ถูกค้างคาวกัด ในระยะแรกผู้ป่วยอาจมีอาการปวดประสาทหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ต่อมาจะมีอาการแขนขาซีกหนึ่งเป็นอัมพาตหรือชา มีอาการชักและการเคลื่อนไหวผิดปกติ มักไม่พบอาการกลัวลม กลัวน้ำและอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติดังแบบที่ 1
ระยะไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยทุกรายเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายจะมีอาการหมดสติและเสียชีวิต (จากระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว รวมทั้งหัวใจเต้นผิดจังหวะ) ภายใน 1-3 วันหลังมีอาการไม่รู้สึกตัว ถ้าผู้ป่วยมาโรงพยาบาลในระยะนี้อาจทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก อาจเข้าใจผิดว่าเกิดจากโรคสมองอักเสบจากสาเหตุอื่น
ภาวะแทรกซ้อน
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคอันตรายร้ายแรง ผู้ป่วยเสียชีวิตแทบทุกคน
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
มักตรวจพบว่ามีไข้ สับสน กระวนกระวาย เอะอะอาละวาด
ที่สำคัญคือ อาการกลัวลมและกลัวน้ำ
บางรายอาจมีอาการแขนขาอ่อนแรง อัมพาตครึ่งซีก ชัก หรือหมดสติ
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเจาะหลัง การตรวจหาเชื้อพิษสุนัขบ้า และการตรวจหาระดับสารภูมิต้านทานโรคด้วยวิธีต่าง ๆ การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลและให้การรักษาตามอาการ เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ชัก และติดตามดูอาการจนกว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิต
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีไข้ร่วมกับอาการกลัวลม กลัวน้ำ คลุ้มคลั่ง เอะอะอาละวาด แขนขาอ่อนแรง หรือ หมอสติ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อพบว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
การปฐมพยาบาลและแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า
ผู้ที่ถูกสุนัข แมว ค้างคาว สัตว์ป่า สัตว์แทะ หรือปศุสัตว์ กัด ข่วน หรือเลีย ควรปฏิบัติดังนี้
1. ทำการฟอกล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาด (เช่น น้ำก๊อก น้ำขวด น้ำสุก) กับสบู่ทันที ควรฟอกล้างหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณเชื้อพิษสุนัขบ้าที่บาดแผล แล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน หรือแอลกอฮอล์ชนิด 70%
2. ถ้ามีเลือดออกซิบ ๆ หรือออกไม่หยุด ควรใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดปิดแผล และใช้แรงกดปากแผลเพื่อห้ามเลือด
3. ควรรีบไปที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป และปรึกษาถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนและอิมมูนโกลบูลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
4. ควรกักขังหรือเฝ้าดูอาการสัตว์ที่ก่อเหตุนาน 10 วัน ในกรณีที่สัตว์นั้นจับตัวหรือหาตัวได้ยาก เช่น สัตว์ป่า หนู ค้างคาว สุนัขหรือแมวจรจัดที่อาจหนีหายไป ถ้าเป็นไปได้ควรหาทางกำจัดแล้วนำซากสัตว์ส่งตรวจ ถ้าเป็นไปไม่ได้ก็ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อพิจารณาฉีดยาป้องกัน
การป้องกัน
1. ควรแนะนำให้ประชาชนนำสุนัขและแมวที่เลี้ยงไว้ทุกตัวไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า เมื่ออายุได้ 12 สัปดาห์ (ถ้าฉีดก่อน ควรฉีดซ้ำเมื่ออายุ 12 สัปดาห์) และ 24 สัปดาห์ และต่อไปฉีดกระตุ้นปีละครั้งอย่างต่อเนื่อง
2. ผู้ที่ทำงานที่เสี่ยงต่อโรคนี้ เช่น สัตวแพทย์ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ แพทย์และพยาบาลที่พบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าบ่อย ๆ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่ทำงานเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า เด็กที่ชอบเล่นกับสุนัข เป็นต้น ควรฉีดวัคซีนป้องกันไว้ล่วงหน้า (ก่อนถูกกัด) เรียกว่า "Pre-exposure prophylaxis"
3. การรักษาผู้ที่สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า
เมื่อพบผู้ป่วยที่ถูกสัตว์ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลีย ควรให้การดูแลรักษา ดังนี้
- ให้การรักษาบาดแผล ถ้าผู้ป่วยยังไม่ได้ฟอกล้างบาดแผล หรือไม่มั่นใจว่าได้รับการปฐมพยาบาลมาอย่างดีแล้ว ให้ทำการฟอกล้างบาดแผดด้วยน้ำสะอาดกับสบู่หลาย ๆ ครั้ง แล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ ไม่ควรเย็บแผล เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้ออักเสบเป็นหนองได้ (ถ้าจำเป็นต้องเย็บแผล ควรทำแผลให้ดีสักระยะหนึ่งก่อน ค่อยเย็บปิดในภายหลัง) ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อีริโทรไมซิน ไซโพรฟล็อกซาซิน หรือโคอะม็อกซิคลาฟ และฉีดยากันบาดทะยักตามข้อบ่งชี้ (ดูโรคบาดทะยัก)
- พิจารณาความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และให้การดูแลรักษา รวมทั้งการฉีดวัคซีนและยาต้านพิษสุนัขบ้า (อิมมูนโกลบูลิน) เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้ถือว่าเมื่อมีอาการแสดงแล้ว มักจะเสียชีวิตทุกราย แม้ว่าเคยมีรายงานผู้ป่วยรอดชีวิต แต่ทั่วโลกก็มีเพียงไม่กี่ราย ซึ่งล้วนเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาป้องกันหลังสัมผัสโรคทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยที่เกิดขึ้นในบ้านเรามักไม่ได้รับการฉีดยาป้องกันโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เป็นส่วนใหญ่
2. เมื่อถูกสัตว์ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วนหรือสัมผัสใกล้ชิด ควรจะรีบฟอกล้างด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที แล้วรีบไปที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วเพื่อรับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง รวมทั้งการฉีดยาป้องกัน ไม่ควรรักษาโดยวิธีพื้นบ้าน หรือปล่อยปละละเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกลูกสุนัขหรือแมวกัด หรือข่วน ก็อย่าได้ประมาทว่าไม่เป็นไรเป็นอันขาด
3. บางครั้งพบว่าหลังถูกสัตว์กัดหรือข่วน ถึงแม้จะไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็ไม่เห็นเป็นอะไร อาจทำให้เกิดความประมาทได้ ความจริงแล้วผู้ที่ถูกสัตว์กัด หรือข่วน ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคพิษสุนัขบ้าทุกราย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสัตว์ที่กัดไม่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า หรืออาจได้รับเชื้อจำนวนน้อย หรือบาดแผลมีความรุนแรงน้อยจนไม่ทำให้เกิดโรคก็เป็นได้
4. แม้ว่าไม่มีข้อพิสูจน์ว่าโรคนี้ติดต่อจากคนสู่คน แต่ก็มีรายงานผู้ป่วยที่ติดโรคจากการปลูกถ่ายกระจกตาหรืออวัยวะ ดังนั้น เมื่อมีการสัมผัสโรคกับผู้ป่วย เช่น ถูกผู้ป่วยกัด เยื่อบุหรือบาดแผลสัมผัสถูกสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วย ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาฉีดยาป้องกันแบบเดียวกับสัมผัสโรคจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
สถานที่บริการตรวจหาเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า
กรุงเทพมหานคร
1. สถานเสาวภา สภากาชาดไทย บริการตลอด 24 ชั่วโมง
2. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
2. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาคกลาง
1. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นนทบุรี
2. สำนักงานปศุสัตว์ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม และชัยนาท
2. สำนักงานปศุสัตว์ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม และชัยนาท
ภาคเหนือ
1. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เชียงราย
3. โรงพยาบาลลำปาง
4. ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ลำปาง
5. สำนักงานปศุสัตว์ เชียงใหม่ พิษณุโลก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์
2. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เชียงราย
3. โรงพยาบาลลำปาง
4. ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ลำปาง
5. สำนักงานปศุสัตว์ เชียงใหม่ พิษณุโลก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
1. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอนแก่นและนครราชสีมา
2. ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ ขอนแก่น
3. สำนักงานปศุสัตว์ นครราชสีมา อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ
2. ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ ขอนแก่น
3. สำนักงานปศุสัตว์ นครราชสีมา อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ
ภาคใต้
1. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สงขลา
2. ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ นครศรีธรรมราช
3. สำนักงานปศุสัตว์ สุราษฎร์ธานีและสงขลา
2. ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ นครศรีธรรมราช
3. สำนักงานปศุสัตว์ สุราษฎร์ธานีและสงขลา
ภาคตะวันออก
1. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 2 จังหวัดชลบุรี
2. โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี
3. สำนักงานปศุสัตว์ เขต 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา
2. โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี
3. สำนักงานปศุสัตว์ เขต 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา
ที่มา : สถานเสาวภา สภากาชาดไทย