
โรคเชื้อราในช่องปาก พบได้ในคนทุกวัย พบบ่อยในทารก เด็กเล็ก (ซึ่งภูมิคุ้มกันยังสร้างได้ไม่เต็มที่) นอกจากนี้ยังพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยเอดส์ เบาหวาน หรือมะเร็ง ผู้ที่กินหรือพ่นยาสตีรอยด์นาน ๆ ผู้ที่ได้รับเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด เป็นต้น) ผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะ (เช่น อะม็อกซีซิลลิน เตตราไซคลีน ดอกซีไซคลีน) หรือยาเม็ดคุมกำเนิดนาน ๆ ผู้ที่ใส่ฟันปลอมหรือสูบบุหรี่ บุคคลเหล่านี้มีปัจจัยทำให้เชื้อราที่มีอยู่เป็นปกติวิสัยหรือประจำถิ่น (normal flora) ในช่องปากเกิดการแบ่งตัวเจริญเติบโตจนกลายเป็นโรคเชื้อราได้
มุมปากเปื่อยจากเชื้อรา พบบ่อยในผู้ที่เป็นเชื้อราในช่องปากบ่อย ผู้ป่วยเบาหวาน เอดส์ โลหิตจาง ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือใช้ยาสตีรอยด์เป็นประจำ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน (ทำให้มีปัญหาการสบฟัน มีน้ำลายสอตรงมุมปาก เกิดการติดเชื้อราได้ มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40-50 ปี)
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อราแคนดิดาอัลบิแคนส์ (Candida albicans/monilia) ที่อยู่เป็นปกติวิสัยในช่องปากแบ่งตัวเจริญเติบโตเนื่องจากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในช่องปาก
ในทารกแรกเกิดอาจติดเชื้อชนิดนี้จากมารดา (ที่มีเชื้อราในช่องคลอด) ขณะคลอด ทำให้เกิดโรคเชื้อราในช่องปากภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด
อาการ
โรคเชื้อราในช่องปาก จะมีอาการลิ้นเป็นฝ้าขาวคล้ายคราบนม บางรายอาจมีฝ้าขาวที่เหงือก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ผนังคอหอย เมื่อใช้ไม้กดลิ้นเขี่ยออกจะพบพื้นข้างใต้อักเสบ (เป็นสีแดง) บางครั้งอาจมีเลือดซึม บางรายอาจมีอาการเจ็บหรือแสบลิ้น หรือในช่องปากร่วมด้วย
ถ้าพบในทารกอาจทำให้ทารกไม่ดูดนมหรือร้องงอแง
มุมปากเปื่อยจากเชื้อรา จะมีอาการมุมปาก 2 ข้างเป็นแผลเปื่อยและเจ็บ อาจมีอาการบวม แดง คัน หรือมีเลือดออก
.png)
ภาวะแทรกซ้อน
ในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้
ส่วนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเอดส์) มักเป็นโรคเชื้อราในช่องปากรุนแรง เจ็บปากจนกินไม่ได้ และขาดอาหารได้ บางรายเชื้ออาจลุกลามลงไปที่หลอดอาหาร ทำให้หลอดอาหารอักเสบ (candidal esophagitis) มีอาการเจ็บหน้าอกเวลากลืน ทำให้กลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน กินอาหารไม่ได้ และขาดอาหารได้ นอกจากนี้ เชื้อรายังอาจกระจายเข้ากระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เกิดการติดเชื้อร้ายแรง เช่น ปอดอักเสบ ไตอักเสบ หัวใจอักเสบ สมองอักเสบ เป็นต้น
ทารกที่เป็นโรคเชื้อราในช่องปาก หากดูดนมมารดา อาจทำให้เต้านมมารดาอักเสบได้
สำหรับมุมปากเปื่อยจากเชื้อรา อาจลุกลามเข้าในช่องปากกลายเป็นโรคเชื้อราในช่องปาก หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจพบรอยโรคดังกล่าวในหัวข้อ "อาการ"
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการใช้สำลีซับเอาของเหลวที่รอยแผลที่มุมปากไปตรวจหาเชื้อรา
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้
1. ถ้าผู้ป่วยมีสุขภาพทั่วไปดี ให้การรักษาดังนี้
มุมปากเปื่อยจากเชื้อรา ป้ายด้วยยารักษาโรคเชื้อรา เช่น เจลป้ายปากไมโคนาโซลไนเทรต (miconazole nitrate oral gel) ชนิด 2% ป้ายวันละ 3-4 ครั้งนาน 7-14 วัน
ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะใช้ยาต้านแบคทีเรีย (Mupirocin, Fusidic Acid) ชนิดครีมหรือขี้ผึ้งป้ายแผล
โรคเชื้อราในช่องปาก ใช้เจนเชียนไวโอเลตป้ายปากและลิ้น (ผู้ใหญ่ใช้ชนิด 2% เด็กใช้ชนิด 1% ป้ายวันละ 2-3 ครั้งจนกว่าจะหาย หรือนิสแตติน (nystatin) ชนิดน้ำ (100‚000 ยูนิต/มล.) ป้ายครั้งละ 1 มล. วันละ 4 ครั้งจนกว่าจะหาย แล้วให้ต่ออีก 48 ชั่วโมง
สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต อาจใช้ยาชนิดอม เช่น โคลไตรมาโซล (clotrimazole troche) 10 มก./เม็ด อมครั้งละ 1 เม็ด ให้อมในปากจนละลายหมดแล้วกลืน วันละ 5 ครั้ง นาน 14 วัน
สำหรับมารดาที่ให้บุตรดูดนม ขณะที่รักษาบุตรที่เป็นโรคเชื้อราในช่องปากควรใช้ยารักษาโรคเชื้อราในช่องปากป้ายหัวนมมารดาพร้อม ๆ กันไป เพื่อป้องกันไม่ให้มารดาติดเชื้อ
2. ถ้าเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หรือให้ยารักษาแล้วไม่ได้ผล หรือสงสัยว่าผู้ป่วยมีโรคอื่นร่วมด้วย (เช่น เบาหวาน เอดส์ โลหิตจาง) แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม (เช่น ตรวจเลือด) และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
ถ้าพบว่าเป็นโรคเอดส์ จำเป็นต้องให้ยารักษาโรคเชื้อราให้ได้ผล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมา
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น ลิ้นเป็นฝ้าขาว มีแผลเปื่อยที่มุมปาก ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคเชื้อราในปากหรือมุมปาก ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
1. หมั่นดูแลสุขภาพช่องปากและฟันให้สะอาด รวมทั้งไปตรวจสุขภาพช่องปาก และฟันกับทันตแพทย์ทุก 6-12 เดือน
2. หากปัญหาการสบฟัน หรือมีน้ำลายสอตรงมุมปาก ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อแก้ไข
3. หากเป็นเบาหวาน เอดส์ โลหิตจาง ควรรักษาอย่างจริงจัง จนสามารถควบคุมโรคได้ดี
4. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการซื้อยาสตีรอยด์ (อาจอยู่ในยาชุด ยาลูกกลอน) มาใช้เอง
ข้อแนะนำ
ผู้ที่เป็นโรคเชื้อราในช่องปาก หรือมุมปากเปื่อย (ปากนกกระจอก) จากเชื้อราเรื้อรังหรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย ควรตรวจหาสาเหตุ (เช่น เบาหวาน เอดส์ โลหิตจาง ปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน) และทำการแก้ไขก็จะช่วยป้องกันไมให้โรคเชื้อรากำเริบ