
แผลเปื่อยที่เกิดจากการบาดเจ็บ พบได้บ่อยในคนทั่วไป มักไม่มีอันตรายและหายได้เอง
สาเหตุ
เกิดจากการบาดเจ็บ เช่น ถูกแปรงสีฟันครูดหรือกระแทก ถูกฟันกัด รากฟันปลอมเสียดสี
อาการ
เกิดเป็นแผลเปื่อยเพียง 1-2 แผลที่ริมฝีปาก ลิ้น หรือเหงือกแผลเปื่อย อาจมีเลือดซึมเล็กน้อย หรือเจ็บปวดเล็กน้อย ซึ่งทุเลาในเวลาไม่นาน แผลมักจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์
ภาวะแทรกซ้อน
ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ
บางครั้งอาจกระตุ้นให้แผลแอฟทัสกำเริบ
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการที่ผู้ป่วยบอกเล่า และตรวจพบแผลในช่องปาก
การรักษาโดยแพทย์
บ้วนปากด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง กินยาแก้ปวดถ้ารู้สึกปวด ถ้าอักเสบเป็นหนองป้ายด้วยเจนเชียนไวโอเลต
ถ้าแผลลุกลามหรือไม่หายภายใน 3 สัปดาห์ จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ
ในรายที่เกิดจากฟันปลอมไม่กระชับ เสียดสีจนเป็นแผลบ่อย จะแนะนำให้ไปพบทันตแพทย์เพื่อแก้ไขฟันปลอมให้กระชับ หากปล่อยไว้อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งช่องปากได้
การดูแลตนเอง
ถ้าเป็นแผลขนาดเล็กน้อย ควรดูแลตนเองดังนี้
- ถ้ามีเลือดออกซิบ ๆ ใช้ผ้าสะอาดกดปากแผลสักพัก จนเลือดหยุด
- ถ้าปวดแผลมาก กินยาแก้ปวด-พาราเซตามอล* ถ้าปวดไม่มากไม่ต้องกิน
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือป่น 1 ช้อนชา (5 มล.)) ในน้ำอุ่น วันละ 2-3 ครั้ง
ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีเลือดออกไม่หยุด
- ปวดแผลมาก
- แผลไม่หายใน 1 สัปดาห์ หรือแผลมีขนาดใหญ่ขึ้น
- หลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
- มีความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง
*เพื่อความปลอดภัย ควรขอคำแนะนำวิธีและขนาดยาที่ใช้ ผลข้างเคียงของยา และข้อควรระวังในการใช้ยา จากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก สตรีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวหรือมีการใช้ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งใช้อยู่เป็นประจำ
การป้องกัน
1. เวลาแปรงฟันและเคี้ยวอาหาร ระมัดระวังอย่าให้เกิดแผลเปื่อยในช่องปาก
2. ไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟันทุก 6-12 เดือน
ข้อแนะนำ
แผลเปื่อยในช่องปากที่เกิดจากการบาดเจ็บ ส่วนใหญ่เป็นแผลเล็กน้อย และหายได้เอง ภายใน 1 สัปดาห์ โดยไม่ต้องกินยา