เกิดจากผนังหน้าท้องบางจุดมีความอ่อนแอ(หย่อน)ผิดปกติ ซึ่งส่วนมากจะเป็นมาแต่กำเนิด ทำให้ลำไส้ที่อยู่ข้างใต้ไหลเลื่อนทะลักเข้าไปในบริเวณนั้น ทำให้เป็นก้อนตุง มักมีอาการแสดงเฉพาะเวลามีแรงดันในช่องท้องสูง เช่น เวลาไอ จาม ร้องไห้ เบ่งถ่าย ยกของหนัก
ไส้เลื่อน มีหลายชนิด ซึ่งจะมีอาการ ภาวะแทรกซ้อน และการรักษาแตกต่างกันไป ขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น ที่พบได้บ่อย ได้แก่
- บริเวณสะดือ ทำให้เป็นสะดือจุ่น หรือไส้เลื่อนที่สะดือ (umbilical hernia) มักจะมีอาการตั้งแต่แรกเกิด เมื่อเด็กร้องไห้จะเห็นสะดือโป่ง มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง และจะหายได้เองก่อนอายุได้ 2 ปี
- บริเวณขาหนีบ ทำให้เป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบ (inguinal hernia) ซึ่งเป็นไส้เลื่อนที่พบได้บ่อยในเด็กโตและผู้ใหญ่ อาจพบได้ประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากรทั่วไป และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเป็นสิบ ๆ เท่า
ถึงแม้ว่าหน้าท้องตรงบริเวณขาหนีบจะอ่อนแอมาตั้งแต่เกิด แต่อาการของไส้เลื่อนมักจะปรากฏเมื่อย่างเข้าวัยหนุ่มสาว หรือวัยกลางคน
นอกจากนี้ ภาวะที่เกิดแรงดันในช่องท้องอาจทำให้ไส้เลื่อนกำเริบ เช่น การตั้งครรภ์ การยกของหนัก การเบ่งถ่ายในผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง อาการไอเรื้อรังจากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือ ถุงลมปอดโป่งพอง
- ไส้เลื่อนที่เกิดหลังผ่าตัด (incisional hernia) พบในผู้ป่วยบางรายที่ภายหลังได้รับการผ่าตัดช่องท้อง เมื่อแผลหายแล้วผนังหน้าท้องในบริเวณผ่าตัดเกิดหย่อนกว่าปกติ ทำให้ลำไส้ไหลทะลักเป็นก้อนโป่งที่บริเวณนั้น มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่อย่างไรก็ตาม อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมผนังหน้าท้องให้แข็งแรงเป็นปกติ
ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะสะดือจุ่น และไส้เลื่อนที่ขาหนีบซึ่งพบมากกว่าไส้เลื่อนชนิดอื่น