
เยื่อแก้วหูทะลุ หมายถึง เยื่อแก้วหูเกิดรูทะลุ
อาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ หรือเกิดจากการบาดเจ็บ เช่น จากการแคะหู อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา ถูกกระแทกหรือตบตี หรือจากการเล่นพลุ ประทัด หรือเสียงจากระเบิด เป็นต้น
ผู้ป่วยจะมีอาการหูอื้อ หูตึง ซึ่งเกิดขึ้นทันทีภายหลังได้รับบาดเจ็บ บางรายอาจมีอาการปวดในรูหู หรือมีเลือดไหลออกจากหู
ส่วนในรายที่เกิดจากหูชั้นกลางอักเสบ อาจมีไข้ ปวดหู หูอื้อนำมาก่อน หลังจากนั้นจะมีหูน้ำหนวกไหล
ถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้เกิดการอักเสบ กลายเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังได้
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการใช้เครื่องส่องหูตรวจดู พบเยื่อแก้วหูมีรูทะลุ

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ให้การรักษาเบื้องต้นด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน กินป้องกันการติดเชื้อ
ถ้าเยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูเล็กอาจปิดได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ต้องให้ยาปฏิชีวนะกินป้องกันการติดเชื้อ ควรห้ามผู้ป่วยดำน้ำ หรือลงเล่นน้ำในสระหรือแม่น้ำลำคลอง และระวังอย่าให้น้ำเข้าหูเวลาอาบน้ำ
โดยทั่วไป ถ้าเยื่อแก้วหูปิดได้ ก็มักจะหายขาดและไม่มีภาวะแทรกซ้อนตามมาแต่อย่างใด
2. ถ้าเยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูกว้าง อาจต้องผ่าตัดทำเยื่อแก้วหูเทียม (tympanoplasty)
หากมีอาการหูอื้อที่เกิดขึ้นฉับพลันทันที หลังได้รับบาดเจ็บหรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู หรือมีอาการหูอื้อร่วมกับมีไข้ ปวดหู หูน้ำหนวกไหล ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นเยื่อแก้วหูทะลุ ควรดูแลตนเองดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- งดการลงเล่นน้ำ ดำน้ำ หรือว่ายน้ำในสระหรือแม่น้ำลำคลอง
- เวลาอาบน้ำ ใช้สำลีหรือวัสดุอุดรูหู ป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการไข้ ปวดหู หรือหูน้ำหนวกไหล
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
- หากเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ควรได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้กลายเป็นโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง
- หลีกเลี่ยงการได้รับบาดเจ็บหรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู เช่น การแคะหู การเล่นพลุ ประทัด เป็นต้น
เยื่อแก้วหูทะลุ อาจเกิดจากการติดเชื้อ หรือการบาดเจ็บที่บริเวณหู ควรได้รับการรักษาอย่างจริงจัง ไม่ปล่อยปละละเลยจนกลายเป็นโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง หรือหูพิการถาวรได้